การเรียนรู้ตลอดชีวิต

การเรียนรู้เพื่อชีวิตและการอยู่รอดของอารยธรรมมนุษย์

โดย  รศ.ดร.ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์

 

1 จุดเริ่มต้นสำคัญในเรื่องนี้น่าจะมาจากข้อเสนอของ John Dewey ที่ว่า “Education is not preparation for life; education is life itself. “ การศึกษาคือชีวิต การศึกษาไม่ใช่การเตรียมตัวเพื่อชีวิต

2 ในยุคที่ Dewey เสนอความคิดดังกล่าวเป็นยุคอุตสาหกรรม สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งอิทธิพลจากทฤษฎีวิวัฒนาการของ Darwin ทำให้การศึกษาเล่าเรียนเพียงช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตไม่เพียงพออีกต่อไป

 

 

3 การที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจึงไม่อาจคาดคะเนได้เลยว่าเราจะต้องเผชิญกับอนาคตอะไรข้างหน้า และดังนั้นเราจึงไม่สามารถวางแผนเรียนรู้เพื่อเตรียมตัวสำหรับอนาคตได้มากนัก แต่เราก็จำเป็นต้องตื่นตัว เรียนรู้เพื่อให้สามารถที่จะเผชิญสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโอกาสข้างหน้าตลอดเวลา

4 นี่คือความจำเป็นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

5 แต่ถึงแม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างเชื่องช้าอย่างในอดีต การเรียนรู้ตลอดชีวิตก็ยังจำเป็น เมื่อวัยเปลี่ยน บทบาทความรับผิดชอบเปลี่ยน ก็มีเรื่องราวที่จะต้องเรียนรู้กันตลอดชีวิตเช่นเดียวกัน ยังไม่นับกรณีที่มีนวัตกรรมใหม่เข้ามาในสังคมเป็นครั้งคราว หรือการอพยพโยกย้ายไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่

6 การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย และจำเป็นมากยิ่งขึ้นในยุคต่อๆไป

 

 

7 ตัวความคิดเรื่อง lifelong learning ได้เริ่มเป็นที่รับรู้กันเมื่อราวสามสิบปีที่ผ่านมา

8 ความคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเอาจริงจังในเรื่องการศึกษานอกระบบ การเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือเพี้ยนไปว่าเป็นการศึกษาตลอดชีวิต จึงเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิตของคน และหมายรวมถึง การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย

9 เราติดกับดักความเข้าใจนี้ จนทำให้ความคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ได้พัฒนาไปมากนักทั้งๆที่ได้เริ่มเสนอความคิดกันมานานพอสมควรแล้ว

10 เราไม่ค่อยแยกแยะเรื่อง “การศึกษา” กับ “การเรียนรู้” กันเท่าที่ควร ทั้งๆที่ทั้งสองคำมีความหมายที่แตกต่างกัน “การศึกษา” เป็นเรื่องของการจัด มีความพยายาม มีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น ไม่ว่าจะเป็นการจัด “ในระบบ” หรือ “นอกระบบ” ก็ตาม แต่ “การเรียนรู้” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติวิสัยในทุกสังคมเป็นปกติ

 

 

11 เราสามารถส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนในสังคมได้ แต่การจัดการศึกษาตลอดชีวิตเป็นงานที่ซับซ้อนมากเกินไป

12 การนิยามการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยพยายามบูรณาการ mode ในการจัดการศึกษาเข้าด้วยกันที่ผ่านมาจึงไม่ได้ช่วยพัฒนาแนวคิดในเรื่องนี้แต่อย่างใด

13 การศึกษาในระบบถูกแยกส่วน เน้นใบประกาศนียบัตร และห่างเหินจากการดำรงชีวิตของคนมากขึ้นทุกขณะ จึงไม่ใช่คำตอบ ถ้าจะทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ จำเป็นต้องปฏิรูปหรือปฏิวัติกันใหม่ทั้งหมด ต้องทำให้การเรียนเป็นส่วนของการดำรงชีวิตของผู้เรียนได้อย่างแท้จริง

14 การศึกษานอกระบบถ้าจะผลักดันเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ก็ต้องคิดกลับทางกันใหม่ทั้งหมดเช่นเดียวกัน การศึกษานอกระบบต้องการแนวทางที่เป็น tailor made program ให้เหมาะกับเป้าหมายการเรียนรู้ที่หลากหลายมากขึ้น

15 บางทีในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตเราอาจต้องการระบบ learning webs ที่ Illich ได้เสนอไว้ในหนังสือ Deschooling Society ที่ได้สร้างข้อถกเถียงมากมายเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา Iliich ได้เสนอให้มีสิ่งต่อไปนี้ (1) บริการอ้างอิงแหล่งเพื่อการเรียนรู้ (2) การแลกเปลี่ยนทักษะ (3) การจับคู่ผู้ทีความสนใจทางการเรียนร่วมกัน และ (4) บริการอ้างอิงผู้รู้ที่มีศักยภาพในการให้บริการทางการศึกษา หรืออื่นๆที่น่าจะทำให้เกิดระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้จริง

16 ถ้าหากจะแสวงหาทางออกในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ได้จริงจัง เราอาจจะต้องหันไปตั้งคำถามกันอีกครั้งว่ามีเหตผลหลักอะไรกันแน่ที่ทำให้บุคคลจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต? เพราะสังคมเปลี่ยนแปลง? หรือเพราะความรู้และศาสตร์ทั้งหลายมีความก้าวหน้ามากขึ้น? หรือเพราะบทบาทและความรับผิดชอบของแต่ละคนเปลี่ยนไป? หรือสภาพบริบทแวดล้อมที่บุคคลอาศัยอยู่เปลี่ยนแปลงไป?

17 หากพยายามตอบคำถามข้างบนได้เราน่าจะเริ่มเห็นว่าแท้ที่จริงแล้ว การเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ถึงกับต้องต่อเนื่องไปโดยไม่สิ้นสุด แต่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะต้องเป็นกระบวนการที่สลับกันระหว่างการดำรงชีวิต กับการเรียนรู้เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตนั้น

18 การเรียนรู้ทุกอย่างล้วนแต่มีค่าใช้จ่าย จึงต้องมีความพอเหมาะพอดี เรียนในเรื่องที่สำคัญจำเป็น โดยมีเป้าหมายและแนวทางที่เหมาะสม รวมทั้งการมีความรวดเร็วทันการณ์ และขนาดการเรียนรู้ที่พอดีไม่มากหรือน้อยเกินไป หลังจากการเรียนรู้ในสิ่งที่สำคัญจำเป็นเร่งด่วนผ่านไปแล้ว บุคคลอาจแสวงหาความรู้ที่ตนเองสนใจเพิ่มเติม หรือเรื่องราวที่เป็นงานอดิเรกได้ต่อไป

19 แนวทางสำคัญในการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องการให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เป็น Self-directed Learner และนี่คือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

20 ถ้าต้องการสร้างบุคคลที่สร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต - from womb to tomb การริเริ่มปลูกฝังความสนใจในการเรียนรู้ การมีพื้นฐานที่จำเป็น และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตั้งแต่วัยแรกเริ่มจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการสร้างนิสัยในการตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

21 กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้วจึงเป็นคติสำคัญที่ต้องยึดถือเพื่อการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การปลูกฝังทักษะ นิสัยในการรักการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัว และปลูกฝังนิสัย ความเชื่อเกี่ยวกับความสำคัญในการเรียนรู้เกือบทั้งหมดตั้งแต่วัยเยาว์

22 การส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อให้สามารถจัดการตนเองเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตจำเป็นต้องเรียนรู้บางสิ่งบางอย่างมากกว่าข้อเสนอของ Delors และคณะที่ได้เสนอเรื่องสี่เสาหลักทางการศึกษา ที่ประกอบไปด้วย (1) การเรียนเพื่อรู้ (2) การเรียนเพื่อการปฏิบัติ (3) การเรียนเพื่อการอยู่ร่วมกัน และ (4) การเรียนรู้เพื่อชีวิต นั่นก็คือการเรียนวิธีการเรียน – learning how to learn.

 

 

23 การเรียนรู้วิธีการเรียน หมายรวมถึงการมีความรู้ การมีทัศนะที่ดี และการมีทักษะของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตผ่านกระบวนการถอดบทเรียนอีกด้วย

24 การเรียนรู้ทั้งห้าด้านที่กล่าวถึงข้างบนจำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนหลายเรื่องอาจเกิดขึ้นในแง่มุมที่ต่างไปจากการรับรู้ของเราในปัจจุบันด้วยซ้ำ

25 การเรียนเพื่อรู้ไม่ได้หยุดอยู่แค่ตามความรู้ที่งอกเงยขึ้นมาในอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลาเท่านั้นแต่รวมไปถึงการเปลี่ยนการรับรู้ตามกระบวนทัศน์หรือทัศนะแม่บทที่เปลี่ยนแปลงไปที่อยู่เบื้องหลังอีกด้วย

26 มีทักษะที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อนที่ทำให้ต้องเรียนและเปลี่ยนวิธีการเรียนกันใหม่ทั้งหมด ในยุคหลังโลกาภิวัฒน์เราจำเป็นต้องเรียนรู้ทั้งเพื่อการแข่งขันและสร้างความร่วมมือควบคู่กันไป

27 การเรียนรู้เพื่อชีวิตที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็น transformative learning ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องจิตวิญญาณแบบใหม่ และการรู้เท่าทันความสัมพันธ์เชิงอำนาจรูปแบบใหม่ทั้งการเข้าถึงทรัพยากรและการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทั้งปวง ทั้งหมดนี้ย้ำว่าการเรียนวิธีการเรียน และการรับผิดชอบการเรียนรู้ด้วยตนเองคือคำตอบ

28 โลกได้เข้ามาสู่ยุคที่ Margaret Mead เรียกว่า Pre-Figurative ที่สังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความคิดของคนรุ่นเก่าล้าสมัย ในขณะที่คนในรุ่นหลังพร้อมที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ได้ดีกว่า เป็นปัญญาญาณที่คนรุ่นใหม่สามารถเรียนรู้อะไรได้มากกว่า

29 มีเรื่องราวใหม่ที่เรายังนึกไม่ถึงอีกมากมายที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในภายภาคหน้า แต่ถึงกระนั้นก็ตามเรื่องราวและอารยธรรมจากอดีตที่มีคุณค่าควรจะเรียนรู้สืบทอดกันต่อไปก็มีจำนวนไม่น้อย อุดมคติเรื่องความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพก็ต้องเรียนรู้และลงมือกระทำให้เป็นมรรคผลอย่างต่อเนื่องในทุกยุคทุกสมัย

30 เราต้องการระบบนิเวศการเรียนรู้ใหม่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อชีวิต การเรียนรู้ไม่ใช่เป็นอภิสิทธิ์สำหรับคนบางกลุ่ม บางสถานะ บางวัย หรือสำหรับชนชั้นนำเท่านั้น แต่เป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิตและเพื่อความเป็นไทของทุกคนอย่างแท้จริง

31 มีอุปสรรคมากมายที่จะขัดขวางการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ข้างบน แต่นักการศึกษาจะต้องไม่หวั่นไหวต่อปัญหาที่ต้องเผชิญเพราะแท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความยุ่งยากในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนในรุ่นต่อไป ต้องทำความเข้าใจเรื่องราวทั้งหมด ลงมือทำและช่วยกันคิดร่วมกันทำ นี่คือชีวิตของเราทุกคน และความหวังที่จะส่งต่อไปยังคนในรุ่นต่อไป