• 12 พฤษภาคม 2019 at 10:11
  • 1135
  • 0

 ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี  ครูข้างถนน นางฟ้าของเด็กเร่ร่อน

 

ทีมกองบรรณาธิการ ECHONEWSTHAILAND ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจสภาพของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสร่วมกับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก โดยการนำของ ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการเด็กเร่ร่อน มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก​ พร้อมด้วยคุณกุลธร เลิศสุริยะกุล ประธานเครือข่ายองค์กรทำงานเพื่อเด็กเร่ร่อน  พวกเราออกเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าอโศก​ เดินบนถนนสุขุมวิทปลายทางที่ซอยนานา​ เพื่อศึกษาสภาพชีวิตจริงของกลุ่มเด็กเร่ร่อนขอทานจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมตะวันออก​กลาง​ เด็กทุกคนมาจากครอบครัวยากจน​ อยู่ในวัยเรียนแต่ต้องนอนดึกเกินกว่าเที่ยงคืน​ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนและคุณ​ภาพ​ชีวิต​ ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ.

คณะสำรวจในครั้งนี้โดยการนำของ ครูจิ๋ว ทองพูล บัวศรี ผู้จัดการโครงการเด็กเร่ร่อนมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก

การสำรวจในครั้งนี้วัตถุประสงค์หลักคือการสำรวจความต้องการขั้นพื้นฐานในการเรียนของเหล่าเด็กเร่ร่อนในพื้นที่นี้ แต่ระหว่างทาง ทางครูจิ๋วและคณะสำรวจก็จะหยุดเพื่อพูดคุยกับผู้ด้อยโอกาสต่าง ๆ เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นแม่ซึ่งอุ้มลูกเร่ขอทาน คนเร่ร่อนตามจุดต่าง ๆ ซึ่งบางคนเป็นพ่อแม่ของเด็กเร่ร่อนกลุ่มเป้าหมายที่เรากำลังจะไปสำรวจ ซึ่งครูจิ๋วเล่าว่าการลงพื้นที่แต่ละครั้งเพื่อพูดคุยและสำรวจลักษณะแบบนี้ ครูจิ๋วและคณะของมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กก็จะลงปฏิบัติงานสัปดาห์ละ 3 ครั้งทำแบบนี้มาตลอดและต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับผู้ด้อยโอกาสแต่ละคน เพื่อให้เขาไว้วางใจ และเปิดใจยอมรับความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ ในแต่ละเคสครูจิ๋วจะต้องใช้ความพยายามและอดทนเป็นอย่างมาก บางคนกว่าจะยอมรับและเชื่อใจเราได้ ก็อาจต้องให้เวลาถึง 4-5 ปีก็มี

แต่เมื่อเขายอมรับและเปิดใจเป็นมิตรกับเราแล้ว เราจะสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ความช่วยเหลือก็จะถูกส่งถึงผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ได้มากขึ้น รวมถึงการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากกลุ่มคนด้อยโอกาสเหล่านี้ก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างไม่ยากนัก ซึ่งเวลามีสภาพปัญหาอะไรที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ครูจิ๋วเคยเจอเคสที่พ่อแม่จะพาลูกซึ่งเป็นเด็กเล็กอยู่ในวัยเรียน ออกมาขอเงินจากนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางโดยเฉพาะชาวอียิป หรือชาวตุรกี ซึ่งนักท่องเที่ยวเหล่านี้มีความเชื่อทางศาสนาของเขาว่าการให้ทานกับผู้ด้อยโอกาสเป็นสิ่งที่ดี   ซึ่งครอบครัวของเด็ก ๆ เหล่านี้ก็จะใช้เหตุผลนี้นำลูก ๆ หรือเด็กในครอบครัวออกมารอขอเงินจากนักท่องเที่ยวเหล่านี้ และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็จะให้ทานเป็นจำนวนเงินมากพอสมควร ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีและทำง่าย ครอบครัวของเด็กเหล่านี้จึงนิยมที่จะให้เด็ก ๆ มาทำลักษณะนี้เป็นประจำ ซึ่งก็ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพเด็กเพราะพักผ่อนน้อย  ปัญหาด้านการเรียนของเด็ก เมื่อนอนดึกเช้าเด็กก็ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ  ถ้าเป็นภาครัฐที่มีกฎหมายบังคับใช้ในมือเช่นหน่วยงานปกครองต่าง ๆ ก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีออกมาจับ ปรับแล้วปล่อย แล้วเด็ก ๆ ก็จะกลับมาทำอีก วนอยู่แบบนี้ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด  แต่ครูจิ๋วจะใช้วิธีพูดคุยโดยตรงกับพ่อแม่ เชิงขอร้อง ชี้แจงให้เห็นถึงผลเสียว่าจะเกิดอะไรกับตัวเด็กบ้าง แต่การพูดคุยจะไม่ได้เป็นลักษณะการสั่งห้าม จะเป็นการต่อรองให้ลด ละได้มั้ย เช่นจากเดิมให้ลูกออกมาขอเงินตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืน ครูจิ๋วขอต่อรองให้ทำได้แค่ 2 ทุ่มได้มั้ย หรือจากที่ทำกันทุกวันขอให้ออกมาทำเฉพาะวันศุกร์เสาร์ได้มั้ย  อย่างน้อยเด็ก ๆ ก็จะได้เรียนอย่างเต็มที่  เพราะเรารู้ว่าไม่สามารถหักดิบได้กับปัญหาเหล่านี้เพราะครอบครัวเขาก็ต้องหารายได้จากตรงนี้ เราจึงต้องใช้กระบวนการศึกษานี่แหละเป็นเครื่องมือช่วยสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กอย่างน้อยให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเอง ในอนาคตจะได้ไม่ไปสร้างปัญหาให้กับสังคม

จุดหน้าโรงแรมย่านซอยนานา จะเป็นอีกจุดที่เด็กเร่ร่อนจะคอยมาขอเงินนักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมาก

บนถนนสุขุมวิทระยะทางตั้งแต่แยกอโศก ซอยนานาครูจิ๋วเล่าว่ามีเคสเด็กเร่ร่อนอยู่ประมาณ 70 เคสที่ครูจิ๋วคอยดูแลอยู่ ซึ่งถามว่ามีจำนวนเท่านี้จริงหรือไม่ 70 เคสนี้เป็นเพียงเคสที่เปิดใจยอมรับความช่วยเหลือเท่านั้น  ครูจิ๋ว ยังเล่าอีกว่า “สถานะการเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยถือว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้น ตัวเลขคร่าว ๆ สำหรับประเทศไทยในปีนี้จะอยู่ประมาณ 8,000,000 คน จากเด็กทั้งหมด 23 ล้านคน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 25 ปี ซึ่งก็จะแยกออกเป็นเด็กเร่ร่อนซึ่งเราก็จะรวมไปถึงเด็กเร่ร่อนไทยและเด็กเร่ร่อนต่างชาติ   2 กลุ่มนี้จะรวมกันประมาณ 5 หมื่นคน อีกกลุ่มเป็นเด็กลูกกรรมกรประมาณ 3 หมื่นคน และยังมีเด็กที่ไร้สัญชาติอีกเป็นหลักแสนคน และยังรวมไปถึงกลุ่มเด็กที่ยากจนเป็นพิเศษ ที่เป็นชนชาวเขาหรือชนกลุ่มน้อยซึ่งตีไว้ประมาณ 1.2 ล้านคน เพราะฉะนั้นจำนวนเด็กด้อยโอกาสในประเทศไทยมีเยอะมาก ถามว่าสถานะการเพิ่มขึ้นมั้ยสำหรับคนที่ทำงานด้านนี้ถือว่าเพิ่มขึ้น ด้วยเด็กเร่ร่อนที่เคยเป็นเด็กเร่ร่อนที่เป็นเด็กเล็กแต่ปัจจุบันเขาได้กลายว่าเป็นเด็กเร่ร่อนที่เป็นวัยรุ่น และเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเหล่านี้เขาจะไม่รับบริการใด ๆ จากทั้งทางรัฐและเอกชนเพราะเขาถือว่าเขาสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยการขายบริการทางเพศ เก็บขยะขายเองได้ โดยไม่ต้องเรียนหนังสือ หรือได้รับความช่วยเหลือจากใคร ก็สามารถมีเงินใช้ได้ง่าย ๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การทำงานด้านการช่วยเหลือเด็กเร่ร่อนวัยรุ่นเป็นเรื่องที่ยากว่าเด็กเล็ก ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าเป็นกลุ่มที่กำลังมีปัญหาคือกลุ่มเด็กที่ออกจากระบบการศึกษากลางคัน เช่นเด็กอาจกำลังเรียนหนังสือในระดับป.2 .3 .4 แล้วออกจากการศึกษา แล้วไม่รับการบริการใด ๆ จากทั้งภาครัฐหรือเอกชน แล้วเข้าไปสู่วงจรของเด็กเร่ร่อน หรือเป็นแรงงานลูกกรรมกร และไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาอีกเลย  อีกกลุ่มที่คิดว่าเป็นกลุ่มที่มีปัญหาไม่น้อยเลยคือกลุ่มเด็กที่มีครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งทางหลักยุทธ์ศาสตร์ทางการศึกษาบอกว่าจะไม่ไล่ออกจากระบบสถานศึกษา แต่ในความเป็นจริงเด็กเหล่านี้ที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในวัยเรียนจะออกจากระบบการศึกษาในทันที และจะเข้าไปสู่ระบบของการเป็นแรงงาน ซึ่งสวัสดิการต่าง ๆ ก็ไม่มี วุฒิภาวะต่าง ๆ ก็ยังไม่พร้อมแต่ต้องรับภาระในการเลี้ยงลูก เขาก็จะไม่มีวุฒิทางอารมณ์ อารมณ์จะไม่คงที่ ซึ่งก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่น ๆ ตามมาเช่นการทอดทิ้งเด็ก เกิดอาชญากรรมลักเล็กขโมยน้อยเกิดขึ้นเป็นต้น

 

นี่คือสภาพการสำรวจ สอบถามความต้องการกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เด็กเร่ร่อน นั่งกันตรงข้างถนนกันแบบนี้ เด็กบางคนไม่กล้าพูดคุยกับคนอื่นนอกจากครูจิ๋ว บทบาทสำคัญจึงตกไปที่ครูจิ๋วที่ต้องพูดคุยทำความเข้าใจกับเด็ก ๆ และพ่อแม่

 

การเดินทางมาสิ้นสุดกันที่ซอยนานา เราได้เข้าไปพูดคุยกับเด็กเร่ร่อนหลายกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีผู้ปกครองพ่อแม่เข้ามาร่วมพูดคุยด้วย ตอนแรกเด็ก ๆ ก็จะเกิดอาการกล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะพูดคุยเนื่องจากในการสำรวจครั้งนี้มีคนแปลกหน้าที่ร่วมในคณะด้วย ครูจิ๋วต้องรีบชี้แจงว่าเป็นทีมเดียวกับครูจิ๋ว เด็กไม่กล้าพูดคุยเนื่องจากกลัวเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆที่อาจจะมาจับตัวเด็กๆไป  ครูจิ๋วถามถึงความต้องการเครื่องใช้ส่วนตัวในการเรียนเช่นกระเป๋า หนังสือ สมุด เครื่องเขียน ชุดนักเรียนเป็นต้นว่าเด็ก ๆ ขาดแคลนส่วนไหนบ้างเพื่อนำข้อมูลไปแจ้งกับผู้สนับสนุนและดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป ครูจิ๋วบอกกับเราว่าการลงพื้นที่แบบนี้เป็นวิธีที่ดีมากที่สุดในการที่เราจะได้ข้อมูลเชิงลึกและถูกต้องที่สุดในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับคนด้อยโอกาสโดยเฉพาะเด็กเร่ร่อน ไม่เพียงจะได้แต่ข้อมูลที่เป็นตัวเลขเท่านั้น เรายังได้ข้อมูลที่เป็นเชิงลึกมากกว่า เด็กแต่ละคนหน้าตาเป็นอย่างไร บ้านอยู่ตรงไหน พ่อแม่เป็นใคร ลักษณะนิสัย อารมณ์ความรู้สึก ความจริงใจ ที่ผู้ช่วยเหลือจะสัมผัสได้ บางเคสเราจับพิรุธว่าเขาพูดไม่จริงหรือจริงทำให้เรารู้ลำดับความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือว่าควรจะช่วยเหลือใครก่อนหลังช่วยใครมากน้อยอย่างไร นี่คือการทำงานในเชิงลึกที่ทางเราได้สะสมประสบการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาด้านเด็กเร่ร่อนมาเป็นเวลาอันยาวนาน

     


และนี่คือการเดินทางในระยะสั้นๆ ของทีมกองบรรณาธิการที่ทำให้เห็นสภาพชีวิตจริง ๆ ของคนในสังคมกรุงเทพมหานคร ที่ดูจะสวยงามไปเสียทุกเรื่อง แต่ในความสวยหรูที่ตามองเห็นกลับซ่อนปัญหาต่าง ๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะปัญหาทางสังคม  นี่แค่พื้นที่ส่วนเล็ก ๆ ของกรุงเทพที่เราโฟกัสไปที่การสำรวจสภาพจริงของเด็กเร่ร่อนขอทานเท่านั้นเรายังพบปัญหาถึง 70 เคสที่ให้การช่วยเหลืออยู่และปัญหาด้านอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากที่เราเดินผ่าน อาทิ ขอทานข้างถนน การค้าประเวณี ผู้มีอิทธิพล ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมที่รอการแก้ปัญหาแทบทั้งสิ้น

แต่สำหรับเธอคนนี้ ครูจิ๋ว-ทองพูล บัวศรี หรือที่หลายคนเรียกเธอว่า ครูข้างถนน นางฟ้าของเด็กเร่ร่อน  เป็นการเดินทางที่เธอเริ่มออกเดินมาเป็นเวลานาน และยังคงเดินต่อไปในถนนสายแห่งความเสียสละ

  

 

เรื่อง/ภาพบางส่วน    จากมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก และเพจFB:ทองพูล บัวศรี