เครือข่ายบ้านเรียนสะท้อนปัญหา 20 ปี
การศึกษาแบบ homeschool

จากข้อมูลของสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ปัจจุบัน มีครอบครัวจัดการศึกษาแบบ HOMESCHOOL หรือ บ้านเรียน ให้ลูกหลานของตนเอง กว่า 900 ครอบครัวทั่วประเทศ ปัญหาเดิมๆที่เป็นอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนแบบบ้านเรียนและเครือข่ายจะต้องแก้ไขปัญหาเดิม ๆ มาเกือบ 20 ปี  ไม่ใช่ปัญหาด้านกฎหมายหรือกฎระเบียบ แต่เป็นความเข้าใจในระบบการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน  วิสัยทัศน์ กระบวนคิดแบบในกรอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีหน้าที่ทำงานเกี่ยวกับ “บ้านเรียน”

 
คุณธรรณพร  คชรัตน์  สบายใจ ( ครูนิ่ม ) 
รองเลขาธิการ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย เครือข่ายบ้านเรียน และผู้อำนวยการศูนย์ประสานสิทธิในการจัดการศึกษาบ้านเรียนและศูนย์การเรียนไทย ได้สรุปถึงปัญหาอุปสรรคต่อการจัดการศึกษาแบบ HOMESCHOOL หรือบ้านเรียนนี้ว่า

 
เรื่องที่
1
คือเรื่องการขอจดทะเบียนจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลซึ่งจะมีปัญหาผูกพันกับเรื่องของแผนการศึกษา แต่ปัญหาการจดทะเบียนก็จะมีปัญหานอกจากนั้นอีกก็คือ เรื่องของเจ้าหน้าที่อาจจะเคยปฏิบัติงานในการที่จะไปนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเข้าสู่ระบบโรงเรียน เจ้าหน้าที่และสังคมโดยรวมจะไม่เข้าใจ และจะคิดว่าการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลเป็นวิธีการจัดการศึกษาที่เถื่อนหรือเปล่า โดยยังยึดติดอยู่กับการจัดการศึกษารูปแบบเดิมเท่านั้นและยังไม่ได้ศึกษากฎหมายให้ครบถ้วน ว่ามีกฎหมายเรื่องบ้านเรียนหรือศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 ของพ...การศึกษารับรองแล้ว เวลาที่ครอบครัวไปจดทะเบียนเจ้าหน้าที่ก็จะมีคำถามว่าทำไมผู้ปกครองไม่พาลูกเข้าโรงเรียน ทำไมถึงต้องมาจัดการศึกษาแบบนี้  มันก็จะมีปัญหาเป็นประเด็นเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ว่าเมื่อถ้าครอบครัวรู้จักเครือข่ายบ้านเรียน ทางเครือข่ายก็จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องให้ครอบครัวสามารถไปตอบคำถามเจ้าหน้าที่ได้ ก็ยืนยันใช้สิทธิกัน

เรื่องที่ 2 เมื่อทางครอบครัวต้องการจะจดทะเบียนจะต้องมีการยื่นเอกสารต่าง ๆ รวมถึงจะต้องมีแผนการจัดการศึกษาเป็นหลักฐานประกอบการขออนุญาต แผนการศึกษานี้เจ้าหน้าที่ก็ยังยึดติดกับวิธีการทำงานในรูปแบบโรงเรียนมา ถึงแม้ว่าเครือข่ายจะทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการมาโดยตลอด และมีคู่มือปฏิบัติในการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลแล้ว แต่ว่าคู่มือปฏิบัติฯต่าง ๆ ก็ไม่ได้ถูกกระจายองค์ความรู้และแนวปฏิบัติไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อทำให้เราทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น แต่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็จะใช้อำนาจการพิจารณาฝ่ายเดียวเพราะถือสิทธิและอำนาจ อันนี้เป็นประเด็นที่เราพบมากที่สุด

 
ประเด็นต่อมาเป็นเรื่องของการประเมินผลการเรียน  ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศยึดติดกับการประเมินการศึกษา ซึ่งเป็นการวัดผลการศึกษาแบบข้อสอบเพื่อเอาตัวชี้วัดในหลักสูตรแกนกลางมาจับคู่กับผลการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งเราพบว่ามันไม่สามารถที่จะสะท้อนคุณภาพจริงที่เด็กเรียนได้จริงมากกว่า นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่าเด็กทุกคนมีขั้นของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ได้แตกต่างกันไป เด็ก 6 -7ขวบบางคนเป็นแนวปฏิบัติ บางคนเป็นแนววิชาการ เขาจะมีพัฒนาการเรียนรู้ได้ไม่เหมือนกัน เด็กที่เน้นทางวิชาการเขาจะอ่านออกเขียนได้เร็ว แต่เด็กที่เป็นแนวปฏิบัติเขาจะปฏิบัติได้ก่อน และพัฒนาการเรียนเขียนอ่านจะเป็นไปตามความถนัดและความสนใจ ใช้เรื่องนี้เป็นฐานในการพัฒนากิจกรรมการเรียนเขียนอ่านต่อไป แต่ว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศใช้ตัวชี้วัดรายปีของการทำแผนการศึกษาในโรงเรียนมาจับคู่กับแผนการเรียนรู้รายบุคคลของบ้านเรืยนทำให้ไม่เข้าใจกัน  ซึ่งเราก็ยืนยันว่าเราจะใช้สิทธิในการประเมินตามสภาพจริง เพราะว่าระเบียบปฏิบัติการวัดประเมินผลของกระทรวงศึกษาธิการเขียนไว้ทุกข้อว่า เน้นการประเมินต้องสะท้อนคุณภาพผู้เรียนรายบุคคลให้ได้ 

ความไม่เข้าใจในรูปแบบบ้านเรียนของเจ้าหน้าที่
อุปสรรคสำคัญทำให้การจัดการศึกษาไม่ต่อเนื่อง

 
คุณ สกาวรัตน์ วงศ์มั่นกิจการ เครือข่ายบ้านเรียนกรุงเทพเป็นอีกผู้หนึ่งที่จัดการศึกษาแบบบ้านเรียนให้ลูกแต่ก็ประสบปัญหาเรื่องการประเมินผลการเรียน ซึ่งจากเดิมที่เคยประเมินได้ในปีก่อน มาถึงปีนี้การประเมินผลการเรียนให้ลูกของเธอยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งความจริงควรประเมินเสร็จสิ้นไปตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว

คุณ สกาวรัตน์เปิดเผยว่า“ปัญหาที่เจอในตอนนี้จะเป็นการทำงานร่วมกันกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะมีการประสานงานเพื่อการทำงานร่วมกันจะน้อยมาก ลักษณะในการทำงานจะเป็นการทำงานที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพยายามที่จะใช้มติที่ประชุมของตนเองเพียงฝ่ายเดียวเพื่อที่จะสรุปแล้วนำมาถ่ายทอดเหมือนสั่งการให้ทางบ้านต้องปฏิบัติตามสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ซึ่งสำหรับบางข้อบางมติก็จะเข้าข่ายละเมิดสิทธิในส่วนของแผนการเรียนของเด็ก ซึ่งจะไม่ตรงกันกับเรื่องการประเมินผลที่มีระบุในแผนการเรียน  โดยแผนการเรียนการศึกษาเป็นแผนที่เราได้ส่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นผู้ตรวจสอบแล้ว และมีการปรับแก้ด้วยกัน มีการประสานงานกันเรียบร้อยแล้วและอนุมัติให้เราจัดการศึกษาได้มาแล้ว ซึ่งปีที่แล้วมีการประเมินก็สามารถทำได้  แต่มาปีนี้ก็จะเป็นลักษณะเจ้าหน้าที่คนใหม่มารับผิดชอบ  ซึ่งเขาก็จะบอกว่าอันนี้ทำให้ไม่ได้  มันติดขัดเรื่องการเชิญกรรมการ เวลาของกรรมการแต่ละท่านไม่ตรงกันบ้างอะไร ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้การประเมินล่าช้า  นอกจากนั้นในเรื่องของคณะกรรมการการประเมินก็ดูเหมือนว่าจะมีความไม่เข้าใจเรื่องของการประเมินรูปแบบการเรียนแบบกลุ่มประสบการณ์ น้อยมาก

ซึ่งทำให้การประเมินผลการเรียนของเด็กในปีนี้ก็ยังไม่ได้รับการประเมิน ทั้งที่ความจริงในเดือนเมษายนที่ผ่านมาก็ควรจะประเมินเสร็จแล้ว เพราะว่าอย่างเด็กที่อยู่มัธยมปลาย มีแผนว่าจะไปต่อมหาวิทยาลัยควรจะมีเอกสารมีใบปพ.มีอะไรเพื่อที่จะไปสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้หรือเด็กที่กำลังจะจบม.3จะไปเข้าม.4ในระบบเพื่อที่จะวางแผนว่าตัวเองจะศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยอะไรที่เขาวางแผนไว้ ซึ่งต้องเป็นช่วงเวลาที่ต้องสอดคล้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ปัญหาข้างต้นเครือข่ายบ้านเรียนก็มีการรวมกลุ่มกัน กลุ่มบ้านเรียนหลาย ๆ บ้านหลายครอบครัวก็มารวมตัวกันเพื่อประชุมหารือกันซึ่งเราไม่ได้ทำงานแบบโดดเดี่ยว มีการทำงานร่วมกันเพื่อที่จะหาทางออกร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้ทำงานต่อได้ ซึ่งก็จะทำให้การประเมินถ้าไม่ล่าช้าอีกด้วย 

เรื่องการประเมินการอ่านการเขียน
มักจะมีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กับครอบครัว


คุณชวันลักษณ์ เกรียงปริญญากิจ
ผู้จัดการเรียนแบบบ้านเรียน ให้ทัศนะว่าปัญหาในเรื่องของการประเมินผลการเรียน อยู่ที่การใช้ตัวชี้วัดที่ต่างกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้จัดการศึกษาแบบบ้านเรียน   ซึ่งปัจจุบันเรื่องของการวัดผลและประเมินผลแนวทางการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียนเราพบว่าความต่อเนื่องของการประเมินแบบสภาพจริง ซึ่งเป็นการให้เด็กได้แสดงศักยภาพตามความถนัด และตามศักยภาพรายบุคคล ตรงนี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในทั่วประเทศ แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา   งานหลักของเครือข่ายบ้านเรียนและครอบครัวผู้จัดการศึกษาแบบบ้านเรียนคือการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ ทำให้เขาเข้าใจวิธีการจัดการศึกษาของแต่ละบ้าน รวมถึงการทำให้เขายอมและเปิดทัศนะความคิดของเขากับการที่จะให้เขาดูพัฒนาการของเด็กและให้เขาสามารถเห็นว่าเด็กมีการพัฒนาอย่างถึงที่สุด เพราะว่าเราเน้นการที่ประเมินให้เกิดพัฒนาการ เราไม่ได้เน้นการประเมินให้มันเกิดการวัดเกรดหรือว่าวัดคุณภาพผู้เรียนแบบที่หวังผล แบบวัดผลการประเมินในตัวชี้วัดใน 8 สาระการเรียนรู้ของแต่ระดับชั้น แบบเด็กที่เรียนในระบบโรงเรียน ซึ่งจริงๆแล้วตรงนี้จะมีเด็กที่มีพัฒนาการช้า และมีเด็กที่มีพัฒนาที่ไว พอเกิดเด็กสองแบบขึ้นมา เขาจะเอาตัววัดผลกลางมาจับมันก็ยากสำหรับเด็ก แต่ว่าเด็กบางคนมีพัฒนาการที่ล้ำหน้าไปในบางรายวิชาหรืออาจจะทุกตัวก็ได้

ส่วนเรื่องการประเมินการอ่านการเขียนมักจะมีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กับครอบครัว เพราะว่าความคาดหวังกับตัวชี้วัดที่บอกว่าเด็กต้องอ่านออกเขียนได้ในช่วงวัยนั้นแตกต่างกัน  จริงๆแล้ว เราอยากจะใช้คำว่าช่วงวัยมากกว่าการระบุว่าเป็นระดับชั้น ป.1 ป.2 ป.3 ซึ่งมันก็จะค่อนข้างยากสำหรับเด็กแบบบ้านเรียน เพราะว่าพ่อแม่บางท่านจะมีความยืดหยุ่นสูงในการที่จะจัดการศึกษาให้เน้นการอ่านออกเขียนได้ เพราะฉะนั้นเด็กบางคนอาจจะยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ในแบบที่ตัวชี้วัดระบุไว้ในตอนนั้น ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าครอบครัวอาจจะไม่ได้เน้นตรงนั้น แต่ว่าพอมาดูถึงเนื้อลึก ๆ แล้วจริง ๆ เด็กสามารถที่จะอ่านออกเขียนได้ แต่ว่าอาจจะไม่ใช่มาจากเครื่องมือที่ทางสำนักงานเขตการศึกษาใช้กับเรา  แต่ว่าเป็นเครื่องมือที่มันอยู่ในชีวิตประจำวัน อยู่ในสิ่งที่เขาเรียน 

การสื่อสารข้อมูลการจัดการศึกษาจากรัฐมีน้อย
ผู้จัดการศึกษาต้องศึกษาจากเครือข่ายบ้านเรียน

 
แม่นุ่น ภัทรา วิทยวีระชัย
และ พ่อปัทม์ สัญชัย โตสุนทร อีกหนึ่งครอบครัวที่ประสบปัญหาในการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียนให้กับน้องริตา ลูกสาว ตั้งแต่เริ่มต้นการขออนุญาตจัดการเรียนการสอน 

คุณภัทราเล่าว่าเวลาที่น้องไปโรงเรียนน้องชอบวิชาศิลปะมาก และน้องก็บอกว่าเวลา 40 นาทีมันไม่พอสำหรับการเรียนศิลปะ พ่อแม่ก็เลยคุยกันและบอกลูกว่ามีการศึกษาแบบบ้านเรียน ที่ว่าเราจะเรียนที่บ้านโดยที่พ่อแม่เป็นครู ลูกก็บอกว่าหนูอยากลอง  ตอนนั้นเขาอยู่ประถมวัย ก็เลยตกลงกันในครอบครัวว่าเราจะลอง  เราจะทดลองจัดการเรียนแบบบ้านเรียนสักหนึ่งปี  ถ้าเกิดมันไม่ตอบความต้องการเราได้ เราก็กลับเข้าไปเรียนในระบบโรงเรียนเหมือนเดิม จึงเริ่มออกมาจัดการเรียนแบบบ้านเรียน  เมื่อพอถึงครบกำหนดตามกฎหมายคือ 7 ขวบที่จะต้องจดทะเบียนฯ คุณแม่ก็เลยต้องเริ่มหาข้อมูลในการขอจดทะเบียนและได้ติดต่อเครือข่ายบ้านเรียนว่าเราสนใจเราจะทำอย่างไรได้บ้าง  ก็มีรุ่นพี่แนะนำในการเขียนแผนการเรียน ในการยื่นแผนต่าง ๆ เราก็เลยลองทำดูโดยที่ในแผนเราก็เน้นความสนใจลูกเป็นหลัก  การเขียนแผนการเรียนเราจะคุยกับลูกทุกขั้นตอน โดยเราจะสนับสนุนให้เขาเรียนในสิ่งให้เขาต้องการ

 

               
ในการยื่นขอจดทะเบียนเราทำตามเงื่อนไข แต่ว่าทางราชการไม่ยอมรับบอกว่าให้มายื่นเรื่องใหม่หมดเขตแล้ว ให้มายื่นเรื่องใหม่ในปีการศึกษาที่
2 เทอม 2        ซึ่งเราทราบมาว่าการจดทะเบียนขอจัดการศึกษาแบบบ้านเรียนสามารถยื่นเรื่องได้ตลอดเวลา แต่เขาให้เหตุผลว่าตอนนี้ได้ปิดรับแล้ว คุณแม่ก็ยังไม่ได้ยอมรับ ณ ตอนนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าเป็นมติลงมาจากเบื้องบนว่าปิดรับแล้ว   ซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องของการสื่อสารของหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบข้อมูลข่าวสารจึงทำให้เราต้องเสียสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่น บัตรนักเรียน และในเรื่องของเงินอุดหนุนต่าง ๆ ที่ต้องได้ในปีการศึกษานั้น ๆ รวมทั้งเสียเวลาอีกด้วย

เสนอทางออก เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แก้ไขปัญหาอุปสรรคนี้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

ปัญหาที่น่าจะแก้ไข ได้ไม่ยาก แต่กลับเป็นปัญหากวนใจ ที่ผู้จัดการศึกษาแบบบ้านเรียน จะต้องประสบ วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเครือข่ายบ้านเรียน เตรียมรวมตัวกัน เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีอำนาจช่วยแก้ไขปัญหาอุปสรรคนี้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป

  
คุณธรรณพร  คชรัตน์  สบายใจ ( ครูนิ่ม) รองเลขาธิการ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ยังได้นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้ว่า ทางสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย เราประชุมกันปีละ 2-3 ครั้งและก็สรุปปัญหาเรื่อยมา และก็หาข้อสรุปว่าปัญหาคืออะไร  เราพบว่าปัญหาที่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับระบบโครงสร้างแบบเดิมก็จะมีทั้งกระบวนทัศน์ วิสัยทัศน์ วิธีการทำงานแนวปฏิบัติซึ่งแตกต่างไปจากการศึกษาทางเลือก เราเน้นโอกาสที่เด็กทุกคนจะได้เลือกการศึกษาที่สอดคล้องกับศักยภาพรายบุคคลและบริบทของชุมชนที่จะใช้ทรัพยากรการเรียนรู้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุดถ้าขาดตรงไหนก็เสริมได้ แต่ว่าเราคิดว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ในโครงสร้างที่จะทำงานแบบนี้เราก็เลยเสนอทางกระทรวงศึกษาธิการหลายรอบ เสนอคณะกรรมการการปฏิรูปการศึกษาว่าควรจะมีโครงสร้างใหม่ แต่ว่าเนื่องด้วยตอนนี้เป็นระยะของการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบเราก็เสนอไปทุก ๆ ส่วน กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ คณะอนุกรรมการปฏิรูปการศึกษาที่สกศ. คณะกรรมการอิสระการปฏิรูปการศึกษา เพื่อที่จะให้ได้กฎหมายใหม่เพราะเราทราบว่าประเทศเรากำลังร่างกฎหมายใหม่ ม่ว่าพ.ร.บ.การศึกษาใหม่จะเป็นอย่างไรแต่ว่าพ.ร.บ.การศึกษาใหม่ต้องรับรองสิทธิในการที่เด็กทุกคนจะมีโอกาสในการเลือกการศึกษาที่เหมาะสมให้กับตัวเองได้และก็เติบโตด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพได้ทุกคน  อาจจะต้องไปปรับเรื่องการทำงานในระบบเดิมที่วางกรอบให้เด็กทุกคนต้องเรียนเหมือนกัน เนื้อหาเดียวกันในเวลาเดียวกัน การประเมินผลแบบเดียวกัน และทำให้เด็กหลายคนที่ไม่ได้มีศักยภาพสอดคล้องกับวิธีการนั้นเขาเบื่อการเรียนและหลุดจากระบบไปเยอะ อันนี้เราเรียกว่าเป็นภัยร้ายอย่างหนึ่งของประเทศไทยเหมือนกัน การที่เราไม่สามารถจะเสริมศักยภาพเด็กให้เขาเติบโตบนความถนัดความสนใจ และมีช่องทางการเลือกอาชีพมีการศึกษาที่สอดคล้องกับตัวเองได้

ข้อมูลสัมภาษณ์ วันที่ 27 พฤษภาคม 2562