โรงเรียนทางเลือก “แนววอลดอร์ฟ Waldorf
เพื่อพัฒนามนุษย์ ถึงส่วนลึกที่สุดของจิตใจ

 

“เอาแค่พื้นฐานข้อแรก  ต้องยุติการดูจอทุกจอไม่ว่าจะเป็นจอโทรศัพท์ จอแท็บเล็ต จอ Notebook คอมพิวเตอร์และจอโทรทัศน์”

 

 

 


อะไรคือจุดเด่นที่สุดของโรงเรียนวอลดอร์ฟ

………..ที่ครูรักครูรัก ศรัทธา ศรัทธาทิพย์

ตัดสินใจส่งลูกเข้าเรียน ?

 

 “จากการที่ไปศึกษาแล้วก็ไปทำความเข้าใจแล้วก็ไปดูโรงเรียนแล้วนะครับ จุดเด่นก็คือว่าการพัฒนาความมั่นคงในหัวใจของลูกซึ่งเป็นวัยอนุบาลเนี่ย มันค่อนข้างจะเห็นชัดหรือเป็นรูปธรรมมาก หมายถึงว่าคือตอนแรกนี่ผมเข้าไปหลายครั้งมาก เขานัดไปเหมือนสัมภาษณ์เราด้วย ให้เราเขียนทำเหมือนทำข้อสอบเลยครับว่าเรามองโรงเรียนเป็นยังไง เรารู้จักลูกเราแค่ไหน แล้วเราคิดว่าโรงเรียนจะให้อะไรกับลูกเราได้ ก็จะดูวิสัยทัศน์ดูความคาดหวังที่เรามีต่อทางโรงเรียน คือเข้าไปหลายครั้งเข้าไปคุยไปทำความเข้าใจ เอาหนังสือไปอ่านดูจนรู้สึกว่า ทำไมมันเรื่องมากจังเลย จะรับลูกเราทั้งที ต้องเข้าไป 4 ครั้ง 5 ครั้ง ในขณะที่โรงเรียนบางโรงเรียนเนี่ยเข้าไปคุยเรื่องค่าเทอมเท่าไหร่ โรงเรียนต้องทำอะไรบ้าง ห้องเรียนเป็นยังไงจบแล้ว  แต่เนี่ยต้องเข้าไปทำความเข้าใจหลายครั้งจนเราแน่ใจมั่นใจว่า  โอเคเราคิดแล้วล่ะว่าลูกเราเนี่ย  สมควรที่จะไปทางนี้   เพราะฉะนั้นจุดเด่นของการที่จะเอาลูกเข้าศึกษา สำหรับวัยอนุบาลเนี่ยก็คือเรื่องของ “การสร้างความมั่นคงภายในใจของลูก” ความมั่นคงแบบไหนอย่างที่บอกว่า ต้องคุยกันนานเพราะทางโรงเรียน ทางครูต้องมาอธิบายให้เราเข้าใจ ว่าเราเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านต้องสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติของทางโรงเรียน   เอาแค่พื้นฐานข้อแรก ต้องยุติการดูจอทุกจอ ไม่ว่าจะเป็นจอโทรศัพท์ จอแท็บเล็ต จอ Notebook คอมพิวเตอร์และจอโทรทัศน์ หมายความว่า เราจะไม่ให้ลูกเราดูเลย  ทั้งที่ก่อนหน้านั้นในวัย 2 ขวบกว่า   ลูกผมเขาสามารถเล่นแท็บเล็ต สามารถ Search ใน YouTube เพื่อจะดูการ์ตูน Search หาเกมสำหรับเด็ก   แล้วก็ใช้มาเป็นข้อต่อรอง  ขอเล่นก่อนถึงจะกินข้าว  ขอเล่นก่อนจะถึงไปอาบน้ำ แม้กระทั่งขอเล่นก่อนถึงจะนอน  ถ้าเราไม่ยอมก็จะกรี๊ด พอเราเข้ามาหาความรู้  ทำให้เรารู้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับเด็กนะครับเพราะว่า ทีวีมันก็ทำให้สมาธิของเด็กสั้น เพราะทีวีมันคือความฉับไวลักษณะการต่อเนื่องภาพตัดเร็วมีเอฟเฟคเสียงดังมากๆ แล้วก็มีโฆษณาที่มันจะบิดเบือนความเป็นธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นสัตว์เป็นคน อะไรต่าง ๆ มันทำเพื่อการค้า   มันก็จะทำให้เด็กได้รับข้อมูลเยอะเกินไปที่มันเกินไปกว่าวัยเขา

 

 

 

 

เขาเรียน เขาสอนอะไรบ้างในโรงเรียนแนววอลดอร์ฟ?

 

ปรัชญาเรื่องแรกเลยที่เราจะต้องทำความเข้าใจก็คือว่าแนวทางของวอลดอร์ฟเนี่ย ถ้าอายุยังไม่ถึง 7 ขวบเด็กยังไม่เหมาะกับการเรียน วิชาการเช่นเลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย เพราะฉะนั้นเขาจะสร้างความมั่นคงที่เขาเรียกว่าเป็นริธึ่มที่มันจะเป็นจังหวะสร้างความมั่นคงเพื่อไปสอดคล้องกับเรื่องภายในใจของเด็ก    ตามหลักมานุษยวิทยาของวอลดอร์ฟ   

 

 

วันจันทร์เด็กจะเรียนรู้เรื่องทำความสะอาดโรงเรียน  ก้องเรียนของเขา และบริเวณข้างนอก ตามวัยที่เขาจะรับผิดชอบทำได้  เล่นของเล่น ฟังนิทาน นอนกี่ ริธึ่มจะถูกทำให้สม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นเวลากิน เวลานอน เวลาเล่น

 


วันอังคารทำขนมปังกับเด็กก็จะเรียนรู้เรื่องการร่อนแป้ง ผสมส่วนผสม การตีการนวดให้เข้ากัน การอบให้มันสุก แล้วก็เอามาแบ่งกันรับประทาน เป็นกลุ่มที่เขาจะทำแบบหน้าที่การงาน และเหมือนเดิมเล่นของเล่น ฟังนิทาน แล้วก็ออกมาเล่นข้างนอก

 

 
วันพุธเป็นวันเดินทางไกลเด็กก็จะได้เรียนรู้ธรรมชาติ  โรงเรียนวอลดอร์ฟทุกโรงเรียนจะไม่ได้อยู่ท่ามกลางชุมชนแต่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โรงเรียนลูกผมก็จะอยู่กลางทุ่ง เด็กก็จะเดิน ครูก็จะนำไปเดินเลียบถนนไป ก็จะมีลำธาร มีต้นไม้ เด็กก็จะเห็นปลา ได้ยินเสียงนกได้ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของธรรมชาติ

 
วันพฤหัสบดีเป็นวันที่ปั้นขี้ผึ้ง ซึ่งตอนแรกก็สงสัยว่าทำไมปั้นขี้ผึ้ง ทำไมไม่ปั้นแป้งโดว์ หรือดินน้ำมัน เพราะว่าขี้ผึ้งเป็นวัสดุจากธรรมชาติที่ไม่มีสารเคมีและที่สำคัญก็คือมันแข็ง ถ้าจะเริ่มปั้นได้ จะต้องทำการให้ความอบอุ่น เขาก็จะมีเพลงร้องในขณะที่ทำให้ขี้ผึ้งอ่อนตัว เช่นแบบว่า “เอามาแนบที่หัวใจ เอาซุกไว้ใต้จักแร้” อะไรแบบนี้ทำให้เด็กๆรู้จักการรอคอยไม่ใจร้อน ต้องอดทนต้องทำให้มันนิ่มก่อนถึงจะปั้นขึ้นรูปตามจินตนาการของเขาได้

และวันศุกร์ก็จะเป็นวันที่ระบายสีน้ำ ที่ระบายสีน้ำเพราะสีน้ำเป็นอะไรที่อ่อน ที่สามารถพลิ้วไปเหมือนน้ำโดยที่ยังไม่เข้าสู่โหมดของสีไม้หรือสีเทียนซึ่งมันจะแข็ง เด็กจะต้องเรียนรู้จักจากการผสมสีจากการเกลี่ยลงไปจากการใช้แรงว่าจะลงทุนพู่กันหนักเบาแค่ไหน   ถ้าลงหนักกระดาษก็จะขาด   เป็นต้น นี่คือเบื้องต้น    และนอกจากนั้น  ในสิ่งที่เขาขอความร่วมมือก็คือว่า ของเล่นที่เป็นพลาสติกสำเร็จรูป ถ้ามีอยู่ก็ต้องเอาไปบริจาคเพราะว่ามันจำกัดจินตนาการของลูกเรา  ซึ่งตรงนี้จริงมาก เพราะลูกผมเปลี่ยนแปลงอย่างน่าดีใจมาก  ของเล่นสำหรับโรงเรียนวอลดอร์ฟ จะเป็นของเล่นที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพืช เป็นไม้ เป็นเปลือกหอย เป็นก้อนหิน    โรงเรียนวอลดอร์ฟ จะไม่มีสนามเด็กเล่น จะไม่มีไม้กระดกสไลเดอร์ อุโมงค์ที่เป็นถังไม่มี   เราจะมีตอไม้ซึ่งเป็นต่อไม้ต่างระดับฝังลงไปในดิน  มีเชือกที่ผูกกับต้นไม้ให้เด็กได้โหนได้ปีนป่าย มีบ่อทรายที่ให้เด็กๆลงไปปั้นเล่นทราย แล้วก็มีกองดินเสมือนเป็นภูเขาเล็กๆสำหรับพวกต่อเนื่องมาที่ของเล่นที่บ้าน ซึ่งก่อนจะเปิดเทอมคุณครูประจำชั้นก็จะทัวร์ไปทานข้าวกลางวันกับทุกครอบครัวของเด็ก ที่จะเข้าอนุบาล 1 เพื่อที่จะดูเรื่องของการกินการอยู่ อาหารการกินเป็นอย่างไร ของเล่นเป็นอย่างไร บ้านเป็นอย่างไร เพราะว่าพอเข้าไปเรียนแล้วเด็กจะต้องมีมุมของเล่นของเขา ซึ่งเขาจะหยิบมาเล่นเองและต้องเก็บเองเมื่อถึงเวลา เพราะฉะนั้นของเล่นพลาสติกสิ่งที่ผมบอกว่าคือว่าสมมุติว่ามันเป็นรถพลาสติกสักคัน  ที่ผมซื้อให้ลูกมันก็จบที่มันเป็นแค่รถ  พอลูกเล่นแล้วเขาเบื่อเขาจะไม่กลับมาจับมาหยิบอีกเลย บางชิ้นเขาเล่นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงแล้วเขาก็ไม่จับอีกเลยเป็นปีๆแต่ว่าพอซื้อที่เป็นของเล่นไม้ที่เป็นทาวน์เวอร์ที่สามารถมาต่อกัน ปัจจุบันลูกผมเล่นต่อเนื่องมา 4 ปีแล้วเล่นได้ต่อเนื่องทุกวัน  วันนี้เป็นบ้าน อีกวันเป็นตึก อีกวันเป็นรถไฟ อีกวันเป็นสะพานเชื่อมต่อกัน จินตนาการเขาเปลี่ยน เขาสามารถนำของเล่นมาทำให้มันเป็นอะไรก็ได้

 

บทความโดยครูรัก

 

 

การศึกษาแนววอลดอร์ฟมีลักษณะอย่างไร?

 

ความเข้าใจของครูผู้สอน

 

การศึกษาวอลดอร์ฟมีจุดเน้นที่ “ครู” คือมีการจัดทำคอร์สฝึกหัดครูในแนวทางวอลดอร์ฟ (Waldorf Early Childhood teacher training) อยู่อย่างต่อเนื่อง ครูและผู้ปกครองที่สนใจสามารถลงคอร์สเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลเด็กทุกฝ่าย มีโอกาสพัฒนาตนให้มีความรู้ความสามารถตามแนวทางของมนุษยปรัชญา เข้าใจธรรมชาติมนุษย์และธรรมชาติวัยเด็ก

 

ทักษะศิลปะของครูผู้สอน

 

การศึกษาแนววอลดอร์ฟฝึกฝนทักษะชีวิตโดยเฉพาะด้านศิลปะ ความเข้าใจเรื่องสี ฝึกหัดการวาดภาพระบายสี งานปั้น งานหัตถกรรมเย็บปักถักทอ การจัดดอกไม้ ตลอดจนงานในชีวิตประวัน เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน ฯลฯ เพื่อขัดเกลายก ระดับจิตใจตนเองไปสู่ความละเอียดประณีต บรรลุสู่คุณธรรม ความดี ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการงานและชีวิตของตนเอง ในการทำงานของครูที่เพิ่งทำงานใหม่ ยังต้องทำงานร่วมกับครูที่มีความชำนาญสักระยะ เพื่อเรียนรู้จากชีวิตการทำงานของครูรุ่นพี่ จนมีประสบการณ์เพียงพอที่จะทำงานได้อย่างมั่นใจในตัวเอง

 

การจัดประสบการการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยในแนววอลดอร์ฟ

 

หลักสูตรและกิจกรรม จัดให้มีความเชื่อมโยงกัน ทั้ง 3 มิติ คือ

 

รอบปี (ฤดู เทศกาล วัฒนธรรม)

 

รอบสัปดาห์ (วิถีชีวิตของคนในชุมชน สังคม ครอบครัว)

 

รอบวัน (จังหวะชีวิตในหนึ่งวัน)

 

แนวการจัดประสบการณ์ส่งเสริมพลังเจตจำนง (Will) ของเด็ก และรักษาจังหวะในชีวิตประจำวันของเด็กให้มีความสม่ำ เสมอ (Rhythm of life) เช่น การกิน นอน เล่น ขับถ่าย ให้เป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก เช่นเดียวกับจังหวะลมหายใจเข้า-ออก ที่มีการเข้าและคลายออก ด้วยความเข้าใจที่ว่า เด็กอยู่ในภาวะกึ่งฝัน และการศึกษาค่อยๆพาให้เด็กตื่นขึ้น จึงมีรูปแบบแตกต่างไปจากศึกษาแนวอื่นๆ ทั้งการจัดห้องและการจัดกิจกรรมต่างๆ จะไม่กระตุ้นเร้าให้เด็กตื่นก่อนวัย รูปแบบการจัดการศึกษา เป็นการบูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้ ไม่เน้นการสอนของครู ไม่มีการสอนรายวิชา หรือการเรียนเขียนอ่านแบบชั้นประถม ทัศนะคติในใจครูคือ โลกนี้มีความดีงาม (The world is good/The world is beautiful) ครูจึงมุ่งเน้นในการทำเรื่องนี้ให้ปรากฎเสียก่อน

 

การจัดห้องอนุบาล มีลักษณะเป็น “อนุบาลแบบบ้าน” โดยมีครูเสมือนแม่ การจัดสภาพแวดล้อมภายในเช่นเดียวกับบ้านหนึ่งหลังที่มีพร้อมทุกอย่าง ทั้งห้องครัว ห้องนอน ห้องนั่งเล่น จัดให้มีความสวยงามและเหมาะสมกับการใช้งานในชีวิต ประจำวัน โดยครูจะนำทักษะด้านศิลปะมาจัดห้องเรียนให้อบอุ่นน่าอยู่ เช่น นำผ้าย้อมสีธรรมชาติมาตกแต่งในห้องเรียน จัดมุมฤดูกาลด้วยตุ๊กตาผ้าและวัสดุจากธรรมชาติ รวมทั้งอุปกรณ์และของเล่นเด็กก็มาจากวัสดุในธรรมชาติด้วย

 

 

 

ครูรัก

 

Rug Satdhathip

 

 

 

 

 

 

 

แนวการเรียนการสอนของโรงเรียนวอลดอร์ฟ

 

โรงเรียนแนวการเรียนการสอนแบบวอลดอร์ฟ เป็นแนวการศึกษาที่บูรณาการวิชาการไปกับกิจกรรรมต่างๆ โดยมีครูคอยดูแลและอำนวยความสะดวก เน้นการจัดบรรยากาศในการเรียนการสอนที่เน้นความงดงามของธรรมชาติทั้งในกลางแจ้งและในห้องเรียน โดยเชื่อว่าช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี เพื่อพัฒนาให้เด็กเป็นมนุษย์ที่มีบุคลิกภาพที่สมดุลกลมกลืนไปกับโลกและสิ่งแวดล้อม และได้ใช้พลังงานทุกด้านอย่างพอเหมาะ

 

 

 

 


รูดอร์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้ริเริ่มแนวการเรียนการสอนแนววอลดอร์ฟเชื่อว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มีจิตใจละเอียดอ่อนจะซึมซับสิ่งแวดล้อมและเรียนรู้ได้ง่าย ดังนั้นการจัดบรรยากาศทั้งในและนอกชั้นเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ มีการเน้นความงดงามตามธรรมชาติ เช่น การจัดสีที่นุ่มนวล แสงสว่างจากธรรมชาติที่ไม่จัดจ้า ตลอดจนเสียงที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น นกร้อง ใบไม้ไหว น้ำไหลริน หรือเสียงดนตรีที่ไพเราะ จะสร้างความรู้สึกอบอุ่น อ่อนโยน และสดชื่นให้เกิดขึ้นในจิตใจเด็ก เด็กจะมีพลัง ตื่นตัว และมีสมาธิในการเรียนรู้ได้ไม่ยาก

 

 

 

 

 

เรียบเรียงข้อมูล จาก  นิตยสารรักลูก www.rakluke.com