DPU X เปิดวิจัยทักษะแรงงานในอนาคตคาด2050 AI แทนที่เต็มระบบ เก่งกว่ามนุษย์ 1000 เท่า

DPU X เปิดวิจัยทักษะแรงงานในอนาคต
คาด2050 AI แทนที่เต็มระบบ เก่งกว่ามนุษย์ 1000 เท่า

DPU X มธบ. เผยผลวิจัยทักษะแรงงานในอนาคต คาด2050 AI แทนที่เต็มระบบ เก่งกว่ามนุษย์ 1000 เท่า แนะยกระดับบัณฑิต บริหารจัดการข้อมูล คิดตรรกะ เชิงปรัชญา ยอมรับความล้มเหลว เตรียมคนสู่โลกอนาคต

นายพณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวถึงการศึกษาวิจัยเรื่อง ทักษะแรงงานในอนาคตของไทย (Skill Set for Future workforce in Thailand) ว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกในอนาคต ที่การพัฒนาเทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างรวดเร็ว และปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น จึงมีการตั้งคำถามว่าในอนาคตควรที่จะผลิตบัณฑิตในรูปแบบใดออกมา ซึ่งการที่จะสามารถวิเคราะห์เรื่องนี้ได้ เราจำเป็นที่จะต้องรู้หน้าตาของตลาดแรงงานใน 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะผลิตคนให้สอดรับกับโลกในอนาคต โดยการทำงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า หลายประเทศมีภาพที่คล้ายๆ กัน แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ก่อนปี 2030 ที่จะต้องมีการถ่ายทอดข้อมูลให้กับระบบ AI ให้เก่ง 2.ปี 2030-2050 มีการนำระบบ AI ทำงานบางประเภทแทนมนุษย์ได้ มนุษย์ต้องทำงานร่วมกับ AI และ 3.หลัง ปี 2050 เป็นต้นไป คือ ระบบ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ เพราะเก่งกว่ามนุษย์ 1000เท่า ซึ่งจะทำให้ชุดทักษะของมนุษย์ต้องเปลี่ยนไป ทำให้เราต้องกลับมานั่งคิดว่าเราจะต้องสอนอะไร จากผลการวิจัยพบว่า ช่วงที่ 1 ตั้งแต่ ปี 2020-2029 ทักษะที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ได้แก่ การออกแบบแนวคิด หรือความคิด การเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การใช้เทคโนโลยีแบบโมบาย การทำงานร่วมมือกันเป็นทีม โดยไม่จำเป็นต้องทำงานในที่เดียวกัน รวมทั้งจะต้องเตรียมพร้อมมนุษย์ในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ช่วงที่ 2 ปี 2030-2049 แม้มนุษย์ต้องทำงานไปด้วยกันกับ AI แต่ก็ต้องเน้นการใช้ทักษะคิดวิเคราะห์ การสร้างมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการ และช่วงที่ 3 ปี 2050-2060 แรงงานมนุษย์ต้องมีชุดทักษะ เพื่อการใช้ชีวิตที่มี AI ทำงานแทนคน เช่น การทำงานร่วมกันแบบเสมือนที่มีการใช้การเขียนโปรแกรมและการเป็นที่ปรึกษาเป็นหลัก มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น อาชีพที่ปรึกษาด้านปรัชญา นักออกแบบห้องเสมือนจริง นักออกแบบอาชีพ นักออกแบบเวลาว่าง เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนตัวตนมองว่าหาก AI เข้ามาแทนที่อาชีพที่จะหายไป คือ นักบัญชี ที่ทำหน้าที่เพียงการกรอกข้อมูลบัญชี หรือ แรงงานด้านอุตสาหกรรมที่ทำงานแบบเน้นความแม่นยำ ซึ่งตรงนี้การลงทุนกับ AI จะคุ้มค่ากว่ามนุษย์ สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น ตนมองว่าอาจจะช้ากว่าต่างประเทศ เพราะผู้สร้าง AI ในประเทศเรามีน้อย ส่วนใหญ่เราจะเป็นผู้ใช้ AI มากกว่า และทักษะที่เราควรมี คือ ความคิดสร้างสรรค์เข้าใจเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือทางดิจิทัล ใช้ AI ได้โดยไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ ต้องมีฐานความรู้เรื่องข้อมูล และฐานข้อมูล เตรียมความพร้อมในการปรับตัวทั้งรูปแบบในการทำงาน พร้อมการเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องรักษาสมดุลระหว่างทักษะด้านวิชาการ ด้านอารมณ์ และทักษะทางสังคม ต้องฝึกการคิดระบบ กระบวนการคิดแบบตรรกะ คิดเชิงปรัชญา การใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ และมีทักษะในการมอง เห็น และเข้าใจโลก

"ผมเชื่อว่างานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นตัวช่วยให้แต่ละคณะของมหาวิทยาลัย สามารถนำเป็นฐานและต่อยอดงานวิจัยได้ว่า ควรปรับตัวอย่างไร แต่ในภาพรวมของประเทศส่วนตัวผมคิดว่าจำเป็นต้องมีการตระหนักเรื่องนี้อีกมาก แต่เท่าที่ผมทราบกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ก็มีความพยายามที่จะขับเคลื่อนในเรื่องเหล่านี้ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในโลกอนาคต คือ การกล้าเสี่ยง ความประเมินความเสี่ยง และรับความผิดพลาดในการเสี่ยงได้หรือไม่ ซึ่งหากเราก้าวข้ามเรื่องนี้ได้จะทำให้ประเทศกว่าไปสู่การพัฒนา ผมคิดว่าเรายังขาดทักษะในการผิดพลาด ผิดพลาดอย่างไรให้ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด 

อย่างไรก็ตาม ปีหน้าเรามีแผนว่าจะทำงานวิจัยมากขึ้นในแง่มุมของภาพใหญ่ ถ้าเรามองไปข้างหน้าว่าอีก 30 ปี มนุษย์ตกงานแน่นอน เด็กที่เกิดขึ้นในวันนี้ที่จะตื่นมาแล้วไม่มีงานทำเราควรจะมีแผนในการพัฒนาวิธีคิดเขาอย่างไร ดังนั้นงานวิจัยต่อไปของเราจะมุ่งไปในทิศทางนี้ เพื่อที่จะต้องตั้งคำถามย้อนกลับมา เป็นการวางแผนการศึกษาของประเทศได้ อีกทั้งถ้ามหาวิทยาลัยเองถ้ายังไม่ปรับตัว สอนแต่ความรู้ก็ไม่ต่างจากนักแปลข้อมูล ซึ่งในส่วนของมธบ.ได้มีการนำร่องในสร้างเด็กยุคใหม่ให้มีทักษะทันต่อโลกอนาคตแล้ว" ผู้อำนวยการสถาบัน DPU X กล่าว