informal learning ถูกมองข้าม
เรื่องเสียโอกาสในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย

โดย  รศ.ดร.ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์

 การศึกษาตามอัธยาศัย กับ informal learning ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ปัญหามันเกิดจากผู้ที่เกี่ยวข้องเกือบทุกคนเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน และดังนั้นจึงเข้าใจกันว่าในเมื่อได้พยายามจัดการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างเต็มที่แล้วจึงน่าจะเพียงพอแล้ว เลยทำให้มองข้าม informal learning ซึ่งยังมีอะไรต้องทำอีกมากมาย

“เมื่อเราใส่ใจกับการศึกษาตามอัธยาศัยมากขึ้น

ส่วนที่เป็น informal learning เลยถูกมองข้ามไป

และนี่เป็นเรื่องเสียโอกาสในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในสังคมไทย”

 
เรื่องนี้คงต้องอธิบายย้อนไปยาวตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เราเรียกว่ายุค baby boom มีเด็กเกิดใหม่จำนวนมากอย่างน่าตกใจ โรงเรียนที่มีอยู่แต่เดิมไม่สามารถรองรับเด็กและเยาวชนจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลนี้ได้  

ยุคนี้เองที่ประเทศภายใต้อาณานิคมจำนวนมากในโลกต่างก็ได้รับอิสรภาพ และมีความต้องการทางการศึกษาสูงมากเช่นเดียวกันเพื่อจะก้าวพ้นจากสภาวะการด้อยพัฒนา


ความต้องการทางการศึกษาได้ขยายตัวอย่างเป็นทวีคูณทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา เด็กและเยาวชนที่ต้องการการศึกษามีจำนวนมากขึ้นกว่าที่ความคิดและสถาบันที่มีอยู่เดิมจะสามารถรับมือได้อีกต่อไป และคนรุ่นนี้ยังต้องการการศึกษาในระดับที่สูงกว่าคนรุ่นก่อน จำนวนคนที่ต้องการการศึกษามีมากขึ้นและต้องการจำนวนปีที่จะได้รับการศึกษามากขึ้น และต้องการการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น เป็นขนาดและคุณลักษณะของความต้องการทางการศึกษาที่โลกไม่เคยเผชิญมาก่อน


สภาวะดังกล่าวนี้มีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะในเขตชนบท มีความต้องการทางการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาล มีความขาดแคลนมีอยู่เพียงเรื่องเดียวคือทรัพยากรทางการศึกษา
เราต้องการโรงเรียน หลักสูตร แบบเรียน เครื่องอำนวยความสะดวกและการสนับสนุนต่างๆมากขึ้นในขณะที่มีทรัพยากรจำกัด และที่ขาดแคลนเป็นพิเศษคือครู

 

ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษา การหาคนทำงานคือครูมาทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนเป็นเรื่องยากแสนเข็ญ ต้องใช้เวลาและความอดทน เมื่อคนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการศึกษาการที่จะหาครูสักคนจึงต้องใช้วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยใช้ผู้ที่จบการศึกษาระดับค่อนข้างต่ำหรือแค่เป็นผู้อ่านออกเขียนได้ซึ่งก็มีอยู่น้อยมากมาทำหน้าที่ครู ซึ่งงานในภาคส่วนอื่นก็ต้องการคนที่ผ่านระบบการศึกษาไปบ้างแล้วไปทำหน้าที่อื่นของสังคมในเวลาเดียวกัน เป็นเรื่องที่ต้องแก่งแย่งทรัพยากรที่มีอยู่น้อยนิดกันเอง

กว่าจะมีครูจำนวนมากพอสมควรจนสามารถคัดเลือกไปทำหน้าที่ครูของครูอีกชั้นหนึ่งก็ต้องกินเวลายาวนาน ในระยะเริ่มแรกของการจัดการศึกษาในประเทศกำลังพัฒนานี้การใช้ครูที่มีวุฒิแค่ในระดับที่ตนเองต้องสอนจึงเป็นเรื่องปกติ ครูที่สอนชั้นประถมคือคนที่จบแค่ระดับประถม ครูที่สอบระดับมัธยมคือคนที่จบเพียงระดับมัธยม ครูที่สอนในสถาบันการผลิตครูก็คัดเอาจากผู้ที่พึ่งจบในสถาบันนั้นเอง

มีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของการจัดการศึกษา เป็นปัญหารุนแรง และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

นักวางแผนการศึกษาในยุคนั้นซึ่งก็มีจำนวนไม่มากต่างก็ดิ้นรนหาทางออกในเรื่องนี้

ในช่วงนั้นมีงานศึกษาเพื่อจะหาทางออกในการแก้ปัญหาการศึกษาระดับนานาชาติที่น่าสนใจโดยเฉพาะข้อเสนอเรื่อง Nonformal Education ของ Philip Coombs ในหนังสือเรื่อง The World Educational Crisis : A System Approach ที่จัดพิมพ์โดย UNESCO ในปี 1968 และข้อเสนอนี้ได้มีอิทธิพลต่องานชิ้นสำคัญต่อมา คือ Learning to Be ของ UNESCO ที่พิมพ์ขึ้นในปี 1972 ซึ่งงานชิ้นหลังนี้มีอิทธิพลโดยตรงต่อข้อเสนอในเอกสารของคณะกรรมการเพื่อวางพื้นฐานในการปฏิรูปการศึกษาในปี 2517 ของประเทศไทยที่มีท่านอาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธานคณะกรรมการ

แม้ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการเพื่อวางพื้นฐานในการปฏิรูปการศึกษาจะไม่ได้เกิดผลในทางปฏิบัติเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่ในส่วนของการศึกษานอกระบบ ข้อเสนอนี้ได้เป็นพื้นฐานให้มีการสานงานต่อจนเกิดงานการศึกษานอกโรงเรียนหรือการศึกษานอกระบบในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีต่อมา

ขอย้อนกลับไปถึงงานของ Coombs และคณะที่พยายามหาทางออกจากวิกฤตการณ์ของการศึกษาในโลกในขณะนั้น

ในปี 1973 Coombs และคณะได้เสนอรายงานเรื่อง New Path to Learning for Rural Children and Youth : Nonformal Education for Rural Development ซึ่งเป็นผลงานจากการศึกษาระดับนานาชาติ ที่มีหน่วยฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ของไทยเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาในรายงานดังกล่าวด้วย

งานชิ้นนี้เป็นงานชิ้นแรกที่กล่าวถึง Formal Education, Nonfomal Education และ Informal Learning ไว้ด้วยกันเป็นครั้งแรก    ในการหาทางออกเพื่อตอบสนองวิกฤตเรื่องความต้องการทางการศึกษา Coombs และคณะพบว่านอกจากระบบการศึกษาในโรงเรียนที่มีมาแต่เดิมคือ Formal Education แล้ว ในสังคมจำนวนมากยังมีการจัดการฝึกอบรม เผยแพร่ ผ่านรูปแบบและช่องทางต่างๆ และรับผิดชอบโดยองค์กรและหน่วยงานจำนวนมากโดยมีเป้าหมายและแนวทางชัดเจน เพียงแต่เป็นการจัดการศึกษาที่ไม่ได้เป็นส่วนของการศึกษาระดับประถม มัธยม หรือ อุดมศึกษา ที่เป็น Formal Education หรือการศึกษาในระบบ Coombs และคณะเรียกกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็น Nonformal Education ที่แปลเป็นภาษาไทยว่าการศึกษานอกระบบบ้าง หรือแปลว่าการศึกษานอกโรงเรียนบ้างก็มี


การที่แปลออกได้ต่างๆกันนี้เนื่องจากไม่มีผู้รู้ที่จะตัดสินชี้ขาดที่จะเป็นข้อยุติว่าต้องใช้คำใดที่ต่างจากยุคอดีต และเรื่องนี้มีผลต่อ
informal Learning ที่จะกล่าวถึงต่อไป 

แต่เมื่อ Coombs และคณะได้วิเคราะห์ลงลึกต่อไปอีก ยังพบว่าทุกสังคมได้มีกระบวนการบางอย่างที่ช่วยให้บุคคลได้รับทัศนคติ ค่านิยม ทักษะ และความรู้ นอกเหนือจากกระบวนการทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นในระบบหรือนอกระบบก็ตาม กระบวนการนี้เกิดจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน จากอิทธิพลหรือทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัว จากเพื่อน ครอบครัว ผู้ที่เป็นที่ให้ความเคารพนับถือ หรือจากสื่อต่างๆ กระบวนการนี้ไม่ได้เป็นการศึกษาที่มีผู้จัดขึ้น ไม่ได้มีเป้าหมายและการออกแบบการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า Coombs และคณะเรียกกิจกรรมกลุ่มนี้ว่าเป็น Informal Learning

 

 มนุษย์เราเรียนรู้ภาษา คำสั่งง่ายๆ วิธีปฏิบัติตัว การเอาตัวรอด ในวัยทารกจากกระบวนการนี้ และก่อนหน้าที่จะเกิดระบบโรงเรียนคนส่วนใหญ่ก็เรียนรู้เรื่องราวเกือบทั้งหมดในชีวิตผ่านกระบวนการนี้เช่นเดียวกัน สำนวนไทยที่ว่าครูพักลักจำ หรือแม้แต่การเข้าวัดปฏิบัติธรรมของผู้สูงอายุก็เป็นโอกาสในการเรียนรู้เรื่องราวที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุมากมายจากการทำกิจกรรมร่วมกับผู้สูงอายุอื่นในวัด ก็ป็นกระบวนการทำนองเดียวกัน เรื่อง informal Learning นี้จึงมีลักษณะใกล้เคียงมากกับคำว่า Socialization ในทางสังคมวิทยา

 

Coombs และคณะเห็นว่า ทั้ง Formal Education, Nonformal Education และ Informal Learning ต่างก็เป็นทางออกที่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรเพื่อสนองตอบต่อความต้องการการศึกษาในระบบปกติที่ประสบในขณะนั้นได้

ความจำเป็นของ Informal Learning ยิ่งเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน ในยุคที่มีการใช้ประโยชน์จาก การจัดการความรู้ องค์กรแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้ การเรียนรู้ตลอดชีวิตหรืออื่นๆ อย่างเป็นปกติ

เรามีปัญหาการแปลคำว่า informal Learning เป็นภาษาไทย ที่ผ่านมาเคยมีการใช้คำต่างๆ เช่น การเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการ การเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตามธรรมชาติวิสัย จนเพี้ยนไปเป็นคำว่าการเรียนรู้ตามอัธยาศัยก็มี สาเหตุคือไม่มีผู้ที่ชี้ขาดให้เป็นข้อยุติที่ทุกคนจะยึดถือดังที่เอ่ยมาในช่วงแรก

ความผิดพลาดสำคัญสืบเนื่องมาจากการเผยแพร่งานเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต(ซึ่งก็เป็นคำที่ผิดพลาดตั้งแต่แรกเหมือนกัน) เมื่อประมาณปี 2530 หรือก่อนหน้านั้นไม่นาน ในครั้งนั้นได้อธิบายว่า การศึกษาตลอดชีวิต หมายถึงการศึกษาที่ประกอบด้วยการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย (ผมเองคือผู้ที่เสนอความคิดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนนี้-จึงขออภัยความผิดครั้งนั้นมา ณ ที่นี้) ความผิดพลาดนี้มีคนเชื่อตามเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งไปปรากฏอยู่ในตัวพระราชบัญญัติการศึกษาชาติปี 2542 ด้วยความเข้าใจผิดมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุผลอีกประการหนึ่งของความผิดพลาด หรือพลั้งเผลอนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงรอยต่อระหว่างกองการศึกษาผู้ใหญ่ก่อนจะขยายงานขึ้นมาเป็นกรมการศึกษานอกโรงเรียน

ในช่วงนั้นได้แบ่งกิจกรรมเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการงานการศึกษานอกโรงเรียนออกเป็นสามกลุ่ม หรือ เป็นที่เข้าใจกันเป็นการภายในว่า “3 วง” คือ (1) วงการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ คือการศึกษาผู้ใหญ่ระดับต่างๆ (2) วงวิชาชีพ ที่รวมเรื่องกลุ่มสนใจที่เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมาก กับ (3) วงข่าวสารข้อมูล ที่รวมงานห้องสมุดประชาชน หนังสือพิมพ์ฝาผนัง ที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน การฉายภาพยนตร์ วิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษา และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์

เมื่อมีความพยายามในการจัดองค์กรของกรมการศึกษานอกโรงเรียนใหม่ช่วงก่อนปี 2540 และยังคงมีคำว่าการศึกษาตามอัธยาศัยล่องลอยอยู่ในความคิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นผลให้มีการจัดกลุ่มงานใหม่เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่มีการจัดในรูปชั้นเรียนหรือมีหลักสูตรชัดเจนเรียกว่าเป็นการศึกษาในระบบ ส่วนกิจกรรมทางด้านข่าวสารข้อมูลซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใช้จะเลือกใช้ได้ตามอัธยาศัยอยู่แล้วถูกจัดประเภทว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัยในความหมายที่เป็นการศึกษาที่สามารถเข้าถึงได้ความพอใจ ตามความประสงค์

 
การแยกประเภทดังกล่าวไปได้มีผลถึงกับทำให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานตามไปในที่สุด และเผลอคิดไปว่าได้รวมงาน
Informal Learning เข้าไปในหน่วยงานใหม่แล้ว ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น

คำว่าตามอัธยาศัย เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาสันสกฤตจากคำว่า อธฺยาศย ที่แปลว่าความพอใจ ความประสงค์

แต่สาระของการศึกษาตามความพอใจ ตามความประสงค์ มีความหมายต่างจากคำว่า Informal Learning ของ Coombs เป็นอย่างมาก ดังนั้นเรื่อง Informal Learning จึงเป็นส่วนที่ระบบการศึกษาไทยยังถูกมองข้ามไป แม้ว่าจะเคยมีการพูดถึงคำว่าภูมิปัญญาที่พอจะเกี่ยวข้องกับ informal Learning อยู่บ้าง แต่คำนี้เองก็ใช้กันอย่างฉาบฉวยและใช้กันแบบผิดๆ ถูกๆ ก็มาก

ว่าไปแล้ว เรื่อง Informal Learning นี้เองก็นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญา หรือ Local Wisdom ในการช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างแนบเนียนอยู่ในทุกสังคมมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะเกิดระบบการศึกษาสมัยใหม่ด้วยซ้ำไป

ณ เวลานี้ หากจะใช้คำว่าการศึกษาตามอัธยาศัยในความหมายที่ว่าเป็นการศึกษาที่บุคคลสามารถเข้าถึง ใช้ประโยชน์ได้ตามความพอใจตามความประสงค์ก็คงไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง

 

    


แต่เมื่อการศึกษาตามอัธยาศัยไม่ใช่
Informal Learning ตามที่ได้ชี้แจงไว้แล้ว งาน Informal Learning จึงมีสภาพเป็นงานก้อนใหญ่ที่ถูกมองข้าม ไม่ใส่ใจ ไม่ได้ดำเนินการที่จะใช้ประโยชน์กันเท่าที่ควร

เป็นเรื่องผู้เกี่ยวข้องทั้งนักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรเอกชนจะต้องช่วยกันคลี่คลาย ทำความเข้าใจในเรื่องนี้ร่วมกันให้มากขึ้น

เราอาจต้องหาคำใหม่เพื่อสื่อสารให้ตรงกัน ตัวอย่างเช่น คำว่า “การเรียนรู้ตามธรรมชาติวิสัย” ก็อาจเป็นคำตั้งต้นที่ดี ถ้าเป็นไปได้พึงเลี่ยงคำว่าตามอัธยาศัยซึ่งชักนำให้เข้าใจผิดกันตั้งแต่แรกได้ง่ายๆ

ในการจัดการศึกษาไม่ว่ารูปแบบ ช่องทางหรือผ่านหน่วยงานองค์กรใด พึงตระหนักว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ได้มาร่วมกิจกรรมกับเราด้วยความว่างเปล่า แต่ได้รับการเรียนรู้ และมีช่องทางการเรียนรู้จาก Informal Learning แฝงอยู่ในตัวกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนอยู่แล้ว

 
เรื่อง Informal Learning เป็นทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้วในทุกชุมชน ทุกสังคม ทุกองค์กร ดังนั้นจึงควรหาทางใช้ประโยชน์จากทุนเหล่านั้น สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการเป็นทางเลือก สนับสนุนระบบการศึกษาที่มีอยู่ให้มากขึ้น หากเข้าใจ ใช้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ informal Learning ที่มีอยู่ทั่วไปอย่างมากมายมหาศาลได้ เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์กรแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้ก็จะมีความเป็นไปได้มากขึ้น นั่นคือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสังคมไทยได้ต่อไป 

เรื่องทั้งหมดนี้ไม่ง่ายเลย เพราะเราต้องหันไปทำความเข้าใจเรื่อง Informal Learning ให้มากขึ้นกันใหม่ทั้งหมด ควบคู่ไปกับการแก้ไขแรงต่อต้านจากคนจำนวนมากที่ยังคงยึดถือความเชื่อที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนในเรื่องนี้ แต่
ถ้าทำได้ เรื่องนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมหาศาล

ขอเป็นกำลังใจให้ผู้สนใจเรื่องนี้ทุกคน และเราจะก้าวไปด้วยกัน