สจล. คว้ามหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศด้านงานวิจัย
พร้อมตั้งเป้าก้าวสู่ปีที่ 60 ยืนหนึ่ง งานวิจัยเทียบชั้นนานาชาติ


สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้รับการประเมินประสิทธิภาพด้านงานวิจัย ลำดับที่ 1 ของประเทศไทย โดยสถาบันไทม์ ไฮท์เออร์ เอ็ดดูเคชัน (Times Higher Education) ยืนหนึ่งความสำเร็จบนเวทีระดับประเทศและนานาชาติ กับนวัตกรรมและงานวิจัยทั้งสาขาวิชาด้านศาสตร์และศิลป์ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค สร้างสรรค์บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะในการปฏิบัติงานจริง พร้อมก้าวสู่โลกของเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรที่ความสำคัญ ในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ สถาบันการศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนามนุษย์ ผ่านเครื่องมือความคิดสร้างสรรค์และงานวิจัย เพื่อถ่ายทอดแนวความคิดสู่สังคม บนความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ย้ำจุดยืนการเป็นรากฐานนวัตกรรมไทย จากฝีมือคนไทย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews



ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถาบันไทม์ ไฮท์เออร์ เอ็ดดูเคชัน (Times Higher Education – THE) สถาบันฯ ด้านข้อมูลการศึกษาระดับอุดมศึกษาและสถาบันการวิจัย ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดในการประเมินประสิทธิภาพ การเรียนการสอนและงานวิจัยที่สำคัญของสถาบันการศึกษา ในด้านต่างๆ อาทิ การเรียนการสอน การวิจัยและผลงานการวิจัย เป็นต้น ล่าสุดสจล. ได้รับการประเมินประสิทธิภาพด้านงานวิจัยและผลงานวิจัย ลำดับที่ 1 ของประเทศไทยจากความสำเร็จในการนำเสนองานวิจัยทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ อวกาศและอากาศยาน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และสถิติ ธุรกิจและบริหาร สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะและงานออกแบบ ศิลปศาสตร์ และการเกษตร ตามเป้าหมายและอุดมการณ์สถาบันฯ ที่มุ่งเป็นรากฐานนวัตกรรมไทย จากฝีมือคนไทย ก้าวเข้าสู่ปีที่ 60 


ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า สจล. ได้วางวิสัยทัศน์การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาคอาเซียน และมุ่งพัฒนางานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ จากฝีมือนักศึกษา คณาจารย์ กระตุ้นบรรยากาศการเรียนรู้ในรูปแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning) ที่มีเป้าหมายให้ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ในห้องเรียนสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม งานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์ สร้างบุคลากรที่มีทั้งความรู้ความสามารถและทักษะในการปฏิบัติงานจริง เรียนรู้การแก้ไขปัญหา และการทำงานเป็นทีมของนักศึกษา นอกจากนี้ จะมีการเรียนรู้ในรูปแบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ระหว่างสาขาของนักศึกษาและคณาจารย์ จุดประกายแนวคิดในการสร้างนวัตกรรมในอนาคต ทั้งนี้ สจล. มุ่งยกระดับคุณภาพและมาตรฐานงานวิจัยและนวัตกรรมของไทย ผ่านการเปิดพื้นที่ทางความคิดในการสร้างสรรค์ เพื่อสร้าง "มนุษย์" ให้มีความพร้อมก้าวสู่โลกของเทคโนโลยีดิจิทัลภายใต้ความร่วมมือกับนานาชาติ ในฐานะผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม 

          


"มนุษย์ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม – วัฒนธรรม และนวัตกรรม การศึกษาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความสมบูรณ์แบบ ผ่านการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้และฝึกทักษะในสาขาวิชาชีพที่ตนถนัด เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และขับเคลื่อนการใช้เครื่องมือต่างๆ ทั้งในภาคการผลิตเดิมและดิจิทัล และในยุคของเทคโนโลยีดิสรัปชัน (Technology Disruption) การพัฒนามนุษย์ผ่านงานวิจัยถือเป็นส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้บุคลากรของประเทศได้ฝึกตั้งคำถาม ลงมือปฏิบัติ และถ่ายทอดแนวความคิดสู่สังคม ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงมีบทบาทหลักในการสร้างนวัตกรนักวิจัย ที่ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศ บนความรับผิดชอบต่อสาธารณะ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม" 

          


สำหรับตัวอย่างสุดยอดผลงานที่ได้รับการยอมรับจากทั้งฝีมือนักศึกษาและคณาจารย์ มีหลากหลายกลุ่ม อาทิ กลุ่มนวัตกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะสายสุขภาพ เครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบไม่สัมผัสร่างกาย ผ่านการวัดระดับน้ำตาลในเลือด โดยอาศัยหลักการนำไฟฟ้าของน้ำตาลในเลือดด้วยทฤษฎีแม่เหล็กไฟฟ้า ต้นแบบขาเทียมควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ การออกแบบขาเทียมที่ควบคุมการเคลื่อนไหวด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG) เพื่อแปลงสัญญาณและจำลองรูปแบบลักษณะคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ให้ขาเทียมเคลื่อนไหวได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน นวัตกรรมแขนกลเทียมควบคุมด้วยคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ ตรวจจับคลื่นไฟฟ้าชีวภาพ บริเวณผิวหนังกล้ามเนื้อช่วงแขน ถอดรหัสสัญญาณด้วยโปรแกรมซอฟต์แวร์ ควบคุมสั่งการไปยังมือกลไฟฟ้า กลุ่มนวัตกรรมอาหาร ตะเกียบรับประทานได้ จากแป้งข้าวโพดและแป้งถั่วเหลือง เพื่อทดแทนตะเกียบไม้ไผ่ชนิดใช้แล้วทิ้ง ซึ่งช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะที่มีมากในปัจจุบัน นวัตกรรมข้าวน้ำตาลต่ำ เพื่อผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยคุมน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ ออกแบบป้ายรถเมล์อัจฉริยะเตือนภัยฝุ่น การติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ด พร้อมพัดลมอัตโนมัติ WMApp ให้ผลการพยากรณ์อากาศ ความละเอียดสูงสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยุโรป กลุ่มนวัตกรรมงานออกแบบ เคหะสิ่งทอจากขยะการเกษตร ขยะจากอุตสาหกรรมการเกษตร นำไปใช้ตกแต่งบ้าน เป็นต้น ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทร.02-329-8111 เว็บไซต์ kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlnews