เครือข่าย homeschool ยื่นฟ้องเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต ๒

 

 

เครือข่ายบ้านเรียนยื่นฟ้อง เขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต ๒ ต่อศาลปกครอง ลิดรอนและ/หรือละเมิดสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยครอบครัว: สิทธิแห่งการเรียนรู้และเติบโตบนเส้นทางที่แตกต่าง

เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๒ เวลา ๙.๐๐๑๒.๐๐ น.  เครือข่ายบ้านเรียนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต๒ ร่วมประชุมและหารือถึงปัญหาในการวัดและประเมินผลผู้เรียนปีการศึกษา ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุม ๖๐๑ ชั้น ๖ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐พรรษา ๕ ธ.ค. ๒๕๕๐ อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) และได้ดำเนินการร้องเรียนต่อศาลปกครองในวันศุกร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น.ที่ผ่านมา

กลุ่มตัวแทนเครือข่ายบ้านเรียนได้เปิดเผยว่า กฎหมายการศึกษาของประเทศไทย ให้สิทธิโอกาสภาคส่วนทางสังคมในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยวิธีการและรูปแบบที่หลากหลายและอย่างต่อเนื่องได้ทุกที่ทุกเวลา สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ของโลกการสื่อสารยุคใหม่ไร้พรมแดน ซึ่งการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือโฮมสคูล (Home School) เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยมีแผนการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับผู้เรียนรายบุคคล มีกระบวนการเรียนรู้ตลอดเวลาตามโอกาสความเหมาะสมของผู้เรียน สมดุลกับบริบทวิถีการดำเนินชีวิตของครอบครัว หากแต่ในปีการศึกษาที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนบุคลากรใหม่ของสำนักงาน การดำเนินงานร่วมกันใน  ขั้นพัฒนาการตามหลักการสากลเป็นอย่างดีแล้วถดถอยลงจนเกิดเหตุการณ์ลิดรอนและ/หรือละเมิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่เข้าใจและปิดกั้นพื้นที่การทำงานร่วมกัน ส่งให้เกิดผลกระทบและความล่าช้าต่อผู้เรียน สมาชิกเครือข่ายฯ จึงตัดสินใจยื่นฟ้องการทำงานในประเด็นดังนี้

๑. 
สำนักงานควรมีการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับครอบครัวอย่างรอบด้าน เพื่อการดำเนินการประเมินผลที่ตรงต่อรูปแบบการเรียนรู้และแผนการจัดการศึกษาของครอบครัว


๒. 
สำนักงานขาดการทำงานร่วมกับครอบครัวและคณะกรรมการฝ่ายครอบครัวตามสิทธิ์อันพึงมี โดยการสรุปการประชุมแต่ละครั้งเป็นการทำงานแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือ ทำให้ขาดการทำงานร่วมกันอย่างเคารพและเข้าใจต่อการประเมินในการเรียนรู้รูปแบบบ้านเรียนและการประเมินตามสภาพจริงตามที่ครอบครัวให้ความสำคัญซึ่งระบุในแผนการจัดการศึกษาโดยครอบครัว


๓. 
สำนักงานดำเนินการการประเมินผลล่าช้า มีการประสานงานด้านเอกสารที่ซ้ำซ้อนไม่สอดคล้องกับพัฒนาการ ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ไทยแลนด์ ๔.๐


๔. 
ศึกษานิเทศก์หรือคณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งเพื่อดำเนินการประเมินจากฝ่ายสำนักงาน ไม่ยินดีในการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายบ้านเรียน ขาดความเข้าใจในหลักการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางการศึกษาของเด็กต่างศักยภาพซึ่งมีความแตกต่างกันในกลุ่มผู้จัดการศึกษาโดยครอบครัวที่ประสงค์นำเด็กเข้ารับการวัดประเมินผล
 


ทั้งนี้ การวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา ควรจัดให้มีการประเมินผลจากคณะกรรมการที่มีความเข้าใจในวิถีการเรียนรู้แบบโฮมสคูล (Home School) และใช้วิธีการและเกณฑ์ที่สะท้อนการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยสามารถจัดการประเมินหลายครอบครัวให้เกิดขึ้นในวันเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของทุกฝ่าย

การปรึกษาหารือร่วมกับ กสม.และยื่นเรื่องต่อศาลปกครองจึงเป็นความคาดหวังสู่การทำงานบนหลักการการมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาด้วยความเข้าใจหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา และเชื่อมร้อยพื้นที่การทำงานร่วมกันด้วยมิตรไมตรี รักษาไว้ซึ่งสิทธิของผู้เรียนและครอบครัว และทำงานตรวจสอบกลไกและถ่วงดุลสร้างความโปร่งใสให้กับทุกฝ่ายด้วยระบบการทำงานเครือข่าย อันจะส่งผลให้เกิดกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชนอันเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยิ่งให้กับประเทศ และสร้างสังคมเป็นสุขร่วมกัน.