อาชีวะร่วมการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์
และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2


ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ประธานในพิธีเปิดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 (Thailand Competition on Robotic and Automation Control using Industry 4.0 Technology 2nd) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีนายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวรายงาน ผู้แทนสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้บริหารสมาคมแวิลด์ไดแด็ค (WORLD DIDAC Association) ผู้อำนวยการสถานศึกษา และนักเรียน นักศึกษา ร่วมพิธี ณ อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท ไบเทค ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษามีนโยนายที่มุ่งเน้นคุณภาพของการเรียนการสอน โดยให้ผู้เรียนได้สามารถคิด วิเคราะห์ นำความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และคณิตศาสตร์ ตามแนวทางการบูรณาการของ STEM Education ไปประยุกต์ใช้ในงานอาชีพ สามารถพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้จากการสร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และเทคโนโลยีหุ่นยนต์ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย หุ่นยนต์อุตสาหกรรมนับเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก และการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้เกิดความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 2 นี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้น ในการพัฒนาวิชาชีพด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ให้เกิดศักยภาพและสมรรถนะสูงสุดสู่พร้อมเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง 


 


ด้าน นายณรงค์ แผ้วพลสง
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า จากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และสมาคมเวิลด์ไดแด็ค (WORLD DIDAC Association) ได้จัดการแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 (ครั้งที่ 2) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมการจัดการศึกษา สู่มาตรฐานสากล และสามารถพัฒนาต่อยอด เพื่อก้าวไปสู่ในยุคประเทศไทย 4.0

 

ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เพิ่มพูน ทักษะ ความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาและผู้ที่สนใจ ได้ขยายขอบเขตความรู้ของตน ในด้านการออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์ รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ในระดับอาชีวศึกษาและระดับอุดมศึกษา ได้แก่ การแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Automation Control Technology for Industry 4.0) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 70 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 56 ทีม และระดับอุดมศึกษา 14 ทีม /การแข่งขันควบคุมหุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมอุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Industrial Robot Control Technology for Welding 4.0) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 61 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 57 ทีม และระดับอุดมศึกษา 4 ทีม /การแข่งขันออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 4.0 (Competition on Automotive Parts Design with Industrial Robot) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 41 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 38 ทีม และระดับอุดมศึกษา 3 ทีม และการแข่งขันหุ่นยนต์ประกอบอาหาร (ผัดไทย) (Competition on Pad Thai Cooking Robot) จำนวนทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน 31 ทีม ระดับอาชีวศึกษา 26 ทีม และระดับอุดมศึกษา 5 ทีม ซึ่งการแข่งขันจัดขึ้นภายในงานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย งานแสดงเทคโนโลยี สื่อการสอนอุปกรณ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสื่อการศึกษาจากนานาประเทศ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ อาคารภิรัช ทาวเวอร์ แอท ไบเทค ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ