สภาพพื้นฐาน ความเชื่อ และหลักจิตวิทยาของกลุ่มเด็กบนท้องถนน

โดย รศ.ดร.ชูเกียรติ  ลีสุวรรณ์

            
กลุ่มเด็กบนท้องถนนเป็นกลุ่มเด็กที่มีความอ่อนไหว เปราะบางทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญา ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนด้านการเรียนรู้จึงต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้เข้าถึง และสามารถทำงานร่วมกับเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างราบรื่น


เด็กกลุ่มนี้แท้ที่จริงแล้วเป็นเหยื่อ ที่มีผลจากการพัฒนาของสังคมที่ขาดความสมดุล กลุ่มเด็กบนท้องถนนในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด ส่วนใหญ่การออกมาเป็นเด็กบนท้องถนนเป็นปัญหาครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ฐานะยากจน มีความรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก ได้รับการลงโทษที่รุนแรงอยู่เสมอ ถึงแม้ว่าเด็กหลายคนจะเดินทางมากับครอบครัว แต่สภาพโดยทั่วไปของเด็กกลุ่มหลังนี้ก็ไม่ดีไปกว่าเด็กที่ออกมาเป็นเด็กบนท้องถนนตามลำพังแต่อย่างใด

จากสภาพภายนอกเด็กกลุ่มนี้อยู่ในสภาพที่เรียกว่ามอมแมม ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน อาศัยพื้นที่สาธารณะที่ห่างไกลผู้คน เช่น บริเวณใต้สะพานลอย ใกล้พื้นที่ก่อสร้าง ที่รกร้าง พื้นที่ใกล้ศูนย์กลางการคมนาคม สถานที่ที่มีคนแปลกหน้าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ย่านที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ หรือแม้แต่บริเวณใกล้เคียงกับศูนย์การค้าขนาดใหญ่


เด็กกลุ่มนี้ผ่านชีวิตที่โหดร้ายมาอย่างต่อเนื่อง จึงมีความหวาดระแวงสูง ดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอด แต่หลายคนก็ยังคงถูกหลอกหรือถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนนอกซ้ำอีก และจึงยิ่งสร้างความหวาดระแวงและไม่ไว้ใจผู้อื่นสูงมาก การที่พยายามเอาตัวรอด เด็กกลุ่มนี้จึงมีพฤติกรรมที่เหมือนกับไม่มีจุดยืน การโกหก ก้าวร้าว ชอบลักขโมย เรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น แต่ก็กลัวเจ้าหน้าที่ราชการ เด็กกลุ่มนี้กลัวที่จะถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจ หรือบ้านพักของทางราชการ หลายคนเคยมีประวัติการหลบหนีมาจากสถานที่เหล่านี้มาแล้ว และทำให้หวาดระแวงคนแปลกหน้าที่พยายามเข้าถึงกลุ่มเด็กเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

ในสายตาคนนอกเด็กกลุ่มนี้จึงมีความดื้อรั้น สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ตื่นสายหรือใช้ชีวิตในเวลากลางคืนและนอนในเวลากลางวัน พูดคำหยาบจนติดปาก ไม่มีสัมมาคารวะ ชอบดมกาว ติดยา ติดเกมส์ ชอบท้าทาย ทำตัวเป็นนักเลง ไม่สนใจการศึกษาเล่าเรียน ชอบความสนุกโดยไม่รับผิดชอบ มีการรวมกลุ่มในลักษณะการส้องสุม มีแฟนกันตั้งแต่อายุยังน้อย บางคู่ยอมรับให้ฝ่ายหญิงไปขายบริการทางเพศ แต่ในขณะเดียวกันไม่ต้องการให้ฝ่ายหญิงไปเรียนหนังสือเนื่องจากกลัวว่าจะไปมีแฟนคนใหม่ ฯลฯ จากปฏิกิริยาในเชิงลบของคนนอกจึงยิ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่เบี่ยงเบน ท้าทายสังคมมากยิ่งขึ้น

สภาพความเป็นอยู่ของเด็กกลุ่มนี้จึงเสียงต่อการเจ็บป่วยที่มีผลมาจากพฤติกรรม การบริโภค การใช้ชีวิตในภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคภัยอยู่เป็นประจำ

หากมองด้วยสายตาเป็นธรรมมากขึ้นจะเห็นได้ว่าเด็กกลุ่มนี้เป็น “เหยื่อ” ของสังคม ที่เด็กไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลยนอกจากการใช้วิธีการต่อต้านทั้งโดยเปิดเผย และไม่เปิดเผยที่เรียกว่าดื้อเงียบ ปัญหาทางจิตวิทยาของเด็กกลุ่มนี้จึ้งมีความซับซ้อนสูงมาก และมีแนวโน้มจะเป็นปัญหารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีวิธีการจัดการรายกรณีที่ดี และไวต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กกลุ่มนี้มากพอ


คนที่ทำงานกับเด็กกลุ่มนี้เห็นและรู้สึกถึงแววความฉลาดของเด็กกลุ่มนี้พอสมควร มีความน่ารัก น่าสงสารซ่อนอยู่ภายใน หลายคนมีพรสวรรค์ และแสดงให้เห็นได้ว่าสามารถดูแลตัวเองได้  ที่จริงแล้วพฤติกรรมในเชิงลบหลายอย่างมาจากความรู้สึกว้าเหว่ จึงต้องการความรัก ความเข้าใจเข้าใจของคนทำงานที่เด็กสามารถไว้ใจได้ เช่นครู หรือคนทำงานด้านเด็กที่อุทิศตัวเพื่อเด็กกลุ่มนี้อย่างแท้จริง เด็กกลุ่มนี้ต้องการพื้นที่ในการแสดงออก เพื่อแสดงจุดเด่นของตนเอง เช่น การร้องเพลง หรือความสามารถอื่นที่สังคมยอมรับได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาเด็กกลุ่มนี้ไม่เคยมีพื้นที่หรือโอกาสเหล่านี้เลย

เด็กกลุ่มนี้ต้องการการยอมรับ ความรัก ความเข้าใจจากผู้อื่น และนี้คือคำอธิบายว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้จึงไว้ใจเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม หรือคนทำงานที่มีความอดทนมากพ

|เด็กเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่รวมไปถึงเมืองใหญ่ พื้นที่ที่มีการเร่งรัดพัฒนาที่ทำให้คนจากต่างถิ่นจำนวนมากไปใช้ชีวิตร่วมกัน การแก้ไขปัญหาโดยการส่งเด็กกลุ่มนี้เข้าสถานพินิจฯ หรือบ้านพัก เป็นการปกปิดปัญหา แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด เป็นเพียงการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าที่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมหนักขึ้นเมื่อเด็กเหล่านี้ได้กลับมาใช้ชีวิตอิสระอีกครั้งหนึ่ง หรือเมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้


จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหา และป้องกันปัญหาระดับครอบครัวชุมชนคู่กันไป การจัดการเชิงพื้นที่ภายใต้การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของสมาชิกในชุมชนทั้งต้นทาง (เพื่อป้องกันปัญหา) และปลายทาง (เพื่อแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป)

เราอาจมีความหวังว่างานนี้จะได้รับความสำเร็จพอสมควรหากมีวิธีการ และการสนับสนุนที่เหมาะสม โดยผู้รับผิดชอบที่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในการทำงานด้านนี้ แต่ไม่ควรตั้งความหวังไว้สูงนัก แต่มั่นใจได้ว่าความสำเร็จในการทำงานกับเด็กข้างถนนแต่ละราย ถึงจำนวนเด็กจะมากน้อยเพียงใดก็ตาม แต่เราคงจะมีสังคมที่น่าอยู่มากขึ้นในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย